สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มคงไว้ที่ 2.00% หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในปี 52 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ระดับต่ำสุดที่ 1.25% หรือต่ำกว่าระดับปัจจุบัน 0.75 percentage point เหตุผลคือ 1) วิกฤติการเงินโลกส่งผลให้เศรษฐกิจโลกอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง 2) ข้อมูลเศรษฐกิจไทยชี้ไปในทิศทางชะลอตัวและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ จะเห็นได้ว่ามีเพียงเหตุผลข้อ 3 ที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ดังนั้น การที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท. ไม่ได้หมายความว่า กนง. จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเสมอไป หากปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศไม่ได้มีแนวโน้มชะลอตัวมากนักดังเช่นในปี 52 การลดอัตราดอกเบี้ยอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกเมื่อสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ลดต่ำลงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้อีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลดลงได้หากการใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่ SCB EIC คาดอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในปีนี้จากปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาน้ำมันไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น
ในส่วนของค่าเงินบาทปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เมื่อถึงสิ้นปี 58 เงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยเป็น 33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินทุนข้ามชาติมีแนวโน้มไหลออกไปบ้างตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในช่วงครึ่งปีหลัง สวนทางกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายของ ธปท.แต่ทั้งนี้ค่าเงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่าลงไปมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นและตราสารหนี้ไทยในสัดส่วนที่ไม่สูง แรงขายเงินบาทจึงไม่มากนัก นอกจากนี้ ดุลเงินบัญชีเดินสะพัดที่น่าจะเป็นบวกเนื่องจากมูลค่าการนำเข้าพลังงานลดลงตามราคาน้ำมันโลกก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาทได้อีกทางหนึ่ง
"เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังไม่มีปัจจัยโดดเด่นที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึงระดับศักยภาพ เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากภาวะหนี้ครัวเรือนและราคาสินค้าเกษตร การลงทุนของภาคธุรกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงนัก ส่วนหนึ่งยังรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ อีกทั้งภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่มาก"SCB EIC ระบุ