นอกจากนี้ กกร.เตรียมการลงนาม MOU ความร่วมมือเกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจ กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ในระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่น ของนายกรัฐมนตรีไทย ในวันที่ 9 ก.พ. 2558 ที่ กรุงโตเกียว
ในการประชุมครั้งนี้ กกร.ได้สรุปภาวะเศรษฐกิจ พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนธันวาคม ยังคงให้ภาพการฟื้นตัวเป็นไปอย่างช้าๆ ด้วยปัจจัยบวกจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่กลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่การเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงต่ำกว่าเป้ามาก ขณะที่ผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนไม่มากนักเมื่อเทียบกับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยังไม่กลับสู่ระดับปกติ
อย่างไรก็ดี มองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรจะมีส่วนบรรเทาปัญหารายได้เกษตรกรตกต่ำได้ แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในวงจำกัดเพราะเป็นการกระตุ้นอำนาจซื้อในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในบางภูมิภาค โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรปและจีนที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกของประเทศต่อไป
การบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวช้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน(PCI) ในเดือนธันวาคมกลับมาหดตัวอีกครั้ง สะท้อนผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงยังส่งผ่านไปยังการใช้จ่ายภาคเอกชนไม่มาก โดยการซื้อสินค้าไม่คงทนชะลอลงเล็กน้อยและการใช้จ่ายในสินค้าคงทน โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ยังคงไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการบริโภคในไตรมาสสี่ ยังขยายตัวในอัตราต่ำเพราะมีข้อจำกัดด้านรายได้เกษตรกรและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง
การลงทุนภาคเอกชน อยู่ในระดับทรงตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามการฟื้นตัวของการบริโภคเป็นไปอย่างช้าๆ และการส่งออกยังเปราะบางอยู่มาก กอปรกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทำให้การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและการก่อสร้างยังมีไมมากนัก สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ค่อนข้างทรงตัวในระดับ 49.0 อย่างไรก็ดีภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสสี่ปี 2557 สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2556
การส่งออกโค้งสุดท้ายพลิกขยายตัวร้อยละ 1.9 ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาส 4 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส แต่มูลค่าส่งออกทั้งปี 2557 ยังหดตัวเล็กน้อย โดยสินค้าส่งออกดาวเด่นในรอบปี 2557 เป็นสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ ข้าว (23% yoy) เม็ดพลาสติก (8.2%) อัญมณีและเครื่องประดับ (7.2%) อิเล็กทรอนิกส์ (4.3%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (2.5%) ส่วนสินค้าดาวร่วงเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาลดลงจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว อาทิ ยางพารา (-26.9%) น้ำมันสำเร็จรูป (-11.2%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-5.9%) สำหรับมิติตลาดส่งออกที่ช่วยผลักดันการส่งออกในปี 2557 ได้แก่ CLMV (9.0%) ยุโรป (4.7%) จากการเร่งส่งสินค้าก่อนถูกตัดสิทธิ์ GSP และสหรัฐฯ (4.1%) จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สวนทางกับตลาดจีนที่หดตัวแรง (-7.9%) จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และตลาดอาเซียน-5 (-3.9%) จากการหดตัวของน้ำมันสำเร็จรูปและรถยนต์
การเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงต่ำกว่าเป้าและเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเดือนธันวาคม เบิกจ่ายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 84yoy และมียอดเบิกไตรมาสแรก FY58 อยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราเบิกจ่ายเพียงร้อยละ 9.3 จากเป้าเบิกร้อยละ 29 นอกจากนี้ การเบิกจ่ายในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 เดือนสุดท้ายปีที่ผ่านมา วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท ล่าสุดมีความคืบหน้าชัดเจนในส่วนที่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาและชาวสวนยาง ขณะที่มาตรการด้านอื่นๆที่คิดเป็นงบประมาณ 3.2 แสนล้านบาทอยู่ในขั้นตอนของการเร่งรัดเซ็นสัญญางบลงทุนให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสสอง FY58 ทำให้คาดว่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนทยอยเข้าสู่ระบบได้ราวไตรมาสสามของปีงบประมาณ
การท่องเที่ยว ฟื้นตัวเร็วกว่าภาคส่วนอื่นอย่างชัดเจน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนธันวาคมอยู่ที่ 2.8 ล้านคน ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.8 จากการเติบโตในแทบทุกตลาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชีย นำโดยตลาดนักท่องเที่ยวจีน (86.5% yoy) มาเลเซีย (30%) ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวยุโรป หดตัวน้อยลงที่ร้อยละ 6.7 และหากไม่นับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวรัสเซียที่หดตัวแรงถึงร้อยละ 27 พบว่าตลาดยุโรปฟื้นตัวโดยขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ทั้งนี้ การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวในไตรมาสสี่ (ตลาดจีนขยายตัวเกือบ 70%) ช่วยพยุงให้นักท่องเที่ยวทั้งปี 2557 มีจำนวน 24.8 ล้านคน หดตัวร้อยละ 6.7 จากครึ่งปีแรกที่หดตัวถีงร้อยละ 12
ภาคอุตสาหกรรม โดยรวมปรับดีขึ้น แต่ค่อนข้างช้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ยังหดตัวที่ร้อยละ 0.3 (yoy) แม้ในอัตราที่น้อยลงจากเดือนพ.ย.ที่หดตัวร้อยละ 3.7 ก็ตาม โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดแผงวงจรรวม (IC) และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ การทยอยฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ที่ ส.อ.ท. ดำเนินการสำรวจ พบว่าปรับดีขึ้นต่อเนื่องมาที่ระดับ 92.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ทำให้ในไตรมาสสี่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอาเซียน รวมถึงการลดลงของต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นผลจากการปรับลดลงของราคาพลังงาน
ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจ SME ยังคงมีความกังวลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคที่ถดถอยลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาสสี่อยู่ที่ 37.1 ปรับลงจากระดับ 38.0 ไตรมาสก่อนหน้า จากปัจจัยลบ อาทิ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัวตามราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (เป็นความกังวลอย่างมากของผู้ประกอบการภาคเหนือและภาคใต้) การส่งออกที่ไม่ฟื้นตัว และการขาดแคลนและต้นทุนแรงงานสูงขึ้น แม้มีปัจจัยบวกจากการลดลงของราคาน้ำมันในประเทศและการค้าชายแดนที่ขยายตัวก็ตาม อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนผู้ประกอบการยังมีความหวังในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจ