(เพิ่มเติม1) ผู้ว่า ธปท.เผยปี 58 ใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนต่อเนื่อง-เตือนบริหารความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 5, 2015 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า ในปี 58 จะใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศษฐกิจ และสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพการเงินในระยะยาว โดยยืนยันว่า ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้ผันผวนมากเกินไป แต่ก็จะไม่ฝืนกลไกตลาดจนนำไปสู่การเกิดความไม่สมดุลและลดแรงจูงใจของภาคธุรกิจใจการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นและเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ดี เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล, ภาระหนี้ต่างประเทศที่เหมาะสม, จะเป็นด่านแรกที่ช่วยบรรเทาความผันผวนของตลาดการเงินได้ นอกจากนี้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมจะเป็นภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีนี้ได้

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 58 จะเติบโตได้ 4% จากปีก่อน โดยครึ่งปีแรกคาดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 4.5% และครึ่งปีหลังคาดว่าจะโตได้ 3.4% ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่การเติบโตคงยังไม่สูงนัก เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังไม่เข้มแข็ง และมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหลายรายการลดลง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนจะเป็นความหวังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย

พร้อมกันนั้น ในปีนี้ ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อมีเสถียรภาพและแรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีไม่มาก ทั้งนี้ในปี 58 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้เปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเงินเฟ้อที่เป็นสากลมากขึ้น จากเดิมที่เป็นเงินเฟ้อพื้นฐานมาเป็นเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% บวกลบ 1.5% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปนี้จะสะท้อนค่าครองชีพได้ดีขึ้น

"ผมขอให้ความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว โดยอัตราการฟื้นตัวไตรมาสต่อไตรมาสจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งแรกของปี และจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากการลงทุนของรัฐบาลเข้าสู่ระบบเศรษบกิจมากขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่เข้มแข็งนักและขจอจำกัดด้านการผลิตของไทยจะทำให้การส่งออกขยายตัวไม่สูงดังเช่นในอดีต

ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าภาวะเศรษฐกิจการเงินในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนและเกิดความผันผวนได้ นักธุรกิจและนักลงทุนทุกท่านไม่ควรประมาท ผมสนับสนุนให้ทุกท่านบริหารความเสี่ยงและความผันผวนจากทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งและมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำลง"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่าความท้าทายที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มี 3 เรื่อง คือ 1.ต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตของประเทศไทยในระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงการปฏิรูปเพื่อวางรากฐานของประเทศ การปฏิรูปบางอย่างอาจมีต้นทุนในระยะสั้นเกิดขึ้นบ้าง แต่การปฏิรูปเหล่านี้จะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว 2.สำหรับภาคครัวเรือนในระยะยาวนั้น การเพิ่มการออมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ 3.สำหรับภาคธุรกิจระยะยาวนั้น การเพิ่มผลิตภาพการผลิตเป็นสิ่งสำคัญต่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นโอกาสดีสำหรับการลงทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และอัตราดอกเบี้ยในตลาดตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่เศรษฐกิจโลกในปี 58 ในภาพรวมยังมีทิศทางที่ขยายตัว ซึ่งจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะโตได้ 3.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่โต 3.3% ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ 3 ตัว คือ เศรษฐกิจสหรัฐ, เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือเป็นเครื่องยนต์ที่ทำงานได้เต็มที่ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี สะท้อนจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เครื่องยนต์ตัวที่ 2 คือ เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ยังมีปัญหา เพราะมีแนวโน้มอ่อนแอต่อไป เนื่องจากยุโรปยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ เช่น กรณีรัสเซีย-ยูเครน, การเปลี่ยนรัฐบาลของกรีซ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอ่อนแอ หลังจากการขึ้นภาษีบริโภคในปีที่แล้วที่ส่งผลกระทบหนักทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 80 ล้านล้านเยนต่อปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนเครื่องยนต์ตัวที่ 3 กลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย และอาเซียนนั้น เศรษฐกิจชะลอตัวลงบ้าง เพราะทางการจีนเน้นรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปเศรษฐกิจ

"เศรษฐกิจของแต่ละส่วนมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน และแนวนโยบายการเงินที่แตกต่างกันมากขึ้น กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและตลาดการเงินโลกในปีนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะผ้นผวน" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เนื่องจากกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์ มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 3 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก ส่วนไทยเองก็นำเข้าน้ำมันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10% ของ GDP ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกันผ่านค่าครองชีพที่ลดลงของภาคครัวเรือน ต้นทุนที่ลดลงของภาคธุรกิจ และดุลการค้าที่ดีขึ้น ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและการปฏิรูปประเทศกำลังเป็นที่จับตามอง โดยหนึ่งในนั้นคือ นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว ในปีนี้เอง ธปท.ได้มีบทบาทเพิ่มขึ้น โดยได้รับมอบหมายให้กำกับตรวจสอบ SFIs ในฐานะ regulator ตามนโยบายของรัฐที่ต้องการแยกบทบาทการกำกับตรวจสอบออกมาให้ชัดเจนจากผู้กำหนดนโยบายและพันธกิจ (policy maker) และผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของกิจการ (owner) ในปัจุบันคือกระทรวงการคลัง

"เชื่อว่าการกำกับดูแลให้ SFIs มีระบบบริหารความเสี่ยงและหลักธรรมาภิบาลที่ดีมีความโปร่งใส จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ SFIs มีความเข้มแข็ง มีฐานะการเงินที่มั่นคง และสามารถทำหน้าที่ตามพันธกิจเพื่อช่วยปิดช่องว่างการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่สร้างความไร้เสถียรภาพด้านระบบการเงิน ซึ่งล่าสุด ธปท.กำลังอยู่ในขั้นตอนการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อวางขอบเขตและกติกาที่เหมาะสมร่วมกันในการกำกับดูแลต่อไป" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้นำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศนั้น มองว่า ตลาดการเงินในปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเพียงพอในการให้ภาครัฐใช้ระดมทุน ดังนั้นจึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซี่งทุนสำรองนั้นจะใช้ในกรณีที่ตลาดเงินมีสภาพคล่องไม่เพียงพอเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ