ขณะที่ ราคาส่งออกของทั้งไก่สดและไก่แปรรูป คาดว่าอาจจะลดลงประมาณร้อยละ 9.0 และ 6.0 ตามลำดับ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกไก่โดยรวมจากไทยเพิ่มขึ้นในกรอบจำกัด แต่ก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ในปี 2557
จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกในต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยเสริมภาพการส่งออกสินค้าไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ของไทยให้มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในปี 2558 โดยเฉพาะหากไม่มีการพบโรคไข้หวัดนกในไทย อีกทั้งมีการปลดล็อกหรืออนุญาตให้มีการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยโดยประเทศเกาหลีใต้ในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการผลิตและคุณภาพของสินค้าไทย
ทั้งนี้ มองว่า เป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปยังตลาดหลัก ทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (EU) การพบเชื้อไข้หวัดนกในญี่ปุ่นและบางประเทศในยุโรป อาจจะกระทบกำลังการผลิตในประเทศเหล่านั้น และกระตุ้นให้เกิดการนำเข้าสินค้าไก่สดจากไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่ไทยเคยเป็นแหล่งนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ในปี 2546 ก่อนที่จะสูญเสียตลาดให้กับบราซิล จากปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในไทย โดยในปี 2557 บราซิลมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าไก่สดในญี่ปุ่นถึงร้อยละ 80 ในขณะที่ EU เคยมีสัดส่วนนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยคิดเป็นร้อยละ 28 ในปี 2546 ก่อนสูญเสียตลาดให้บราซิลเช่นกัน โดยปัจจุบัน EU มีการนำเข้าไก่สดจากบราซิลถึงกว่าร้อยละ 90 ของการนำเข้ารวม
อนึ่ง ไทยส่งออกไก่รวม (ไก่สด และแปรรูป) เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU)
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีโอกาสส่งออกไก่สดของไทยเพิ่มไปยังตลาดที่มีการระงับนำเข้าไก่สดจากประเทศที่ประสบปัญหาไข้หวัดนกเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยเฉพาะตลาดเกาหลีใต้ที่เคยระงับการนำเข้าไก่สดจากไทยตั้งแต่ปี 2546 และหันไปนำเข้าจากตลาดบราซิลและสหรัฐอเมริกาแทน โดยสัดส่วนการนำเข้าไก่สดจากประเทศทั้งสองสูงถึงร้อยละ 55 และ 38 ของการนำเข้าไก่สดรวมของเกาหลีใต้ ตามลำดับ และจากการค้นพบไข้หวัดนกระบาดในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกาหลีใต้ประกาศห้ามนำเข้าไก่มีชีวิตและไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการนำเข้าไก่สดจากสหรัฐฯ ในปี 2557 คิดเป็นมูลค่า 95.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 24 ของมูลค่าการส่งออกไก่สดของไทยทั้งหมดในปี 2557 การระงับการนำเข้าไก่สดจากสหรัฐฯ ทำให้เกาหลีใต้ต้องพึ่งพิงตลาดหลักอย่างบราซิล ซึ่งหากเทียบแล้วการนำเข้าไก่สดจากไทยมีข้อได้เปรียบบราซิลทั้งในเรื่องระยะเวลาและต้นทุนการขนส่ง ขณะเดียวกัน การขยายกำลังการผลิตของบราซิลอาจเผชิญข้อจำกัดจากภาวะแล้งที่อาจกระทบต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเยน และยูโร เป็นปัจจัยกดดันที่อาจทำให้มูลค่าการส่งออกไก่สดของไทยไม่เพิ่มขึ้นมาก การอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าการอ่อนค่าของเยนและยูโรเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและยูโร ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นตัวกดดันให้ผู้นำเข้าจากญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปต่อรองราคาส่งออกทั้งไก่สดและแปรรูปของไทยให้ลดลง