"ระหว่างที่เราเริ่มให้สิทธิไปก็จะมีการศึกษาอย่างจริงจังว่าระบบ PSC มีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าเหมาะสมก็จะขอใช้สิทธิที่จะเชิญเขามาเจรจาว่าภายใน 4 ปีนับแต่วันเขาได้รับสิทธิ ต้องเจรจาภายใต้เงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่มีอยู่ระหว่างกันและกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อหาข้อตกลงโดยไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน การใช้สิทธิเราจะใช้ในช่วงสำรวจไม่เกิน 4 ปี จะแจ้งให้เขาทราบ"นายคุรุจิต กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์
นายคุรุจิต ยืนยันว่าสิ่งที่กระทรวงพลังงานดำเนินการเพื่อเป็นการรับฟังข้อเสนอที่มีเหตุมีผลเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ โดยหวังว่างานด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นประโยขน์ต่อสาธารณชนจะเดินต่อไปได้
เมื่อวานนี้ นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แถลงยืนยันว่าจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ต่อไป แต่พร้อมจะนำระบบ PSC มาใช้กับแปลง G3/57, G5/57, G6/57 ตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยคาดว่าเฉพาะขั้นตอนการสำรวจ หากมีการยื่นขอทุกแปลงสัมปทานที่เปิดจำนวน 29 แปลง จะทำให้เกิดการลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท และคาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 1-5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตและน้ำมันดิบ 20-50 ล้านบาร์เรล
ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง โดยให้ยื่นคำขอภายในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดยการเปิดสัมปทานรอบนี้จะใช้ระบบสัมปทานแบบ Thailand 3+ ขณะที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานนำระบบ PSC มาใช้
นายคุรุจิต กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าด้านความมั่นคงด้านพลังงาน เพราะประเทศไทยมีการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้นทุกปี และปริมาณก๊าซฯที่มีอยู่ก็ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง การที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ออกประกาศที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปิดทางให้นำระบบ PSC มาใช้สำหรับ 3 แปลงสัมปทานดังกล่าว หลังได้รับฟังคำแนะนำจากสปช. โดยได้แก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของผู้ยื่นคำขอทุกราย รวมทั้งข้อเสนอข้อผูกพันว่าจะลงทุน และผลประโยชน์พิเศษด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ขณะที่ 3 แปลงดังกล่าวเป็นแปลงที่ได้เคยพบปิโตรเลียมและเคยผลิตได้แล้ว แต่ผู้รับสัมปทานในขณะนั้นไม่สามารถผลิตได้ทันในกำหนดเลยต้องคืนสัมปทานนั้น ซึ่งในการเปิดสัมปทานใหม่ได้มีการนำออกมาเปิดสัมปทานในรอบนี้นั้น กำหนดว่าผู้ที่ได้รับสัมปทานใหม่ก็ต้องมีจ่ายเงินโบนัสเพิ่มขึ้นกว่าแปลงอื่นๆ รวมถึงพิจารณาที่จะนำระบบ PSC มาใช้กับทั้ง 3 แปลงนี้ด้วย แต่ต้องมีการศึกษาพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ก่อน ตลอดจนการเจรจาเพื่อให้เป็นที่ตกลงกันทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะมีการผลิตปิโตรเลียมต่อไป
"การเจรจาไม่ใช่บังคับขู่เข็ญ การเจรจาต้องมีการกรอบกติกา ทั้งสองฝ่ายมีเหตุผล ถ้าเขาไม่มีเหตุผลเลย เราก็มีสิทธิฟ้องเขาได้ ขณะเดียวกันถ้าเราไม่มีเหตุผลเขาก็ฟ้องเราได้ แต่คงไม่ไปถึงแบบนั้น สมมติว่าเราบอกว่าระบบเดิมของเราอยากจะเป็น PSC แต่เราไปถือโอกาสเก็บภาษีมากกว่าเดิม ก็ไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่เขาเข้าใจ เราอยากจะให้มีสิทธิมีเสียงในการดูแลทรัพยากรมากขึ้น แต่เราไม่ได้ถือโอกาสนี้ว่าถ้าเขาพบแล้วเดิมเคยเก็บภาษี 78% ขอเป็น 80% ก็ไม่ถูกต้อง"นายคุรุจิต กล่าว