สาเหตุสำคัญมาจากเข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งมีวันหยุดติดต่อกัน ได้สร้างความคึกคักทั้งในด้านการบริโภคในภาพรวม การขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้าเพื่อรองรับกับการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาของประชาชน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่องโดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 และดีเซล ลดลงลิตรละ 3.70 และ 2.50 บาท ส่งผลดีทั้งในด้านต้นทุนประกอบการรวมถึงค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกมาจากการส่งออกในเดือน ธ.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่าภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 50.2 จากระดับ 42.7 (เพิ่มขึ้น 7.5) ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 63.2 จากระดับ 45.8 (เพิ่มขึ้น 17.4) ภาคบริการ กิจการด้านการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 60.6 และ 60.0 จากระดับ 46.7 และ 46.2 (เพิ่มขึ้น 13.9 และ 13.8) ตามลำดับ
ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ารวมภาคการค้าและบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 53.1 จากระดับ 58.5 (ลดลง 5.4) โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 54.2, 52.5 และ 53.3 จากระดับ 57.1, 59.9 และ 57.6 (ลดลง 2.9, 7.4 และ 4.3) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 61.4 และ 57.8 จากระดับ 81.0 และ 71.5 (ลดลง 19.6 และ 13.7) ผลจากระดับราคาสินค้าเกษตรสำคัญโดยเฉพาะข้าวและยางพารายังคงปรับตัวลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ขณะที่ราคาสินค้ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพ
ส่วนผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคเดือน ธ.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน พ.ย.57 พบว่า ค่าดัชนีเกือบทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 61.0 จากระดับ 45.8 (เพิ่มขึ้น 15.2) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 55.0 จากระดับ 42.4 (เพิ่มขึ้น 12.6) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 61.3 จากระดับ 52.4 (เพิ่มขึ้น 8.9) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.1 จากระดับ 45.5 (เพิ่มขึ้น 7.6) มีเพียงภาคใต้ที่ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 42.5 จากระดับ 43.1 (ลดลง 0.6) ส่วนดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ทุกภูมิภาคมีค่าดัชนีปรับตัวลดลง
สำหรับดัชนี TSSI SMEs ประจำไตรมาสที่ 4/57 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/57 พบว่า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.6 จากระดับ 45.4 (เพิ่มขึ้น 2.2) โดยภาคค้าปลีกและภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.3 และ 48.2 จากระดับ 45.3 และ 44.6 (เพิ่มขึ้น 2.0 และ 3.6) ตามลำดับ ส่วนภาคค้าส่ง ค่าดัชนีลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 46.7 จากระดับ 47.4 (ลดลง 0.7) ในส่วนความเชื่อมั่นต่อธุรกิจตนค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 47.7 จากระดับ 43.6 (เพิ่มขึ้น 4.1) ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศ ค่าดัชนีลดลงอยู่ที่ 44.0 จากระดับ 49.6 (ลดลง 5.6) เมื่อพิจารณาถึงค่าดัชนีคาดการณ์ไตรมาสหน้าหรือไตรมาส 1/58 พบว่า ลดลงอยู่ที่ 53.6 จากระดับ 57.8 ซึ่งเป็นการลดลงทุกภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าค่าดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าและคาดการณ์ไตรมาสหน้า จะปรับตัวลดลงทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค แต่อยู่ในระดับที่เกินกว่าค่าฐานที่ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศยังคงมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจในช่วง 3 เดือนข้างหน้าหรือไตรมาส 1/58 ในระดับที่ดี