นอกจากนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เสนอให้ ธปท.สนับสนุนและดูแลมาตรการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตได้ดี เช่น อาเซียน โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านธุรกรรมทางการเงินตามแนวตามชายแดนให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยต้องการให้มีความร่วมมือระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าเพื่อส่งเสริมการใช้สกุลเงินของทั้ง 2 ประเทศในการทำการค้าระหว่างกัน
รวมทั้งเสนอให้ธปท.มีมาตรการเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อสนับสนุนผู้ส่งออกที่จะทำการค้าขายกับประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันยังมีการส่งออกไปค่อนข้างน้อย เพราะประเทศดังกล่าวมีปัญหาการเมืองภายใน ดังนั้นจึงต้องกำหนดท่าทีว่าจะมีการดำเนินการในส่วนนี้อย่างไรให้เกิดความเหมาะสม เช่น ปากีสถาน, อาฟกานิสถาน, อิหร่าน และรัสเซีย
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า การหารือกับ ธปท.ครั้งนี้ ไม่ได้พูดถึงผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ แต่เป็นการหารือถึงการบริหารโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นและเข้ามากระทบค่อนข้างมาก เช่น ราคาน้ำมัน ดังนั้นจึงต้องมีการหารือเพื่อรองรับสถานการณ์นี้ในระยะยาว โดยธปท.ได้รับทราบข้อมูลทั้งหมดแล้วและจะไปติดตามอย่างใกล้ชิด
"ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคส่งออกขณะนี้ไม่ใช่วิกฤติ แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยผ่านเลยไป จะส่งผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะผลกระทบในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ" นายวิชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน รวมทั้งหอการค้าไทยในฐานะภาคเอกชนไม่อยากชี้นำว่าอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับใดจึงจะถือว่าเหมาะสม เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ ธปท.จะต้องดูแล ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว