ส่วนโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พัน แต่ไม่ถึง 5 พันล้านบาท จะแยกการพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ 1.หากเป็นโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่หากไม่ใช่โครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาที่ดินของรัฐในเชิงพาณิชย์ ก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการแบบผ่อนปรน โดยมีรูปแบบเดียวกับโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านบาท แต่ให้เพิ่มขั้นตอนการกำกับดูแลและรายงานให้คณะกรรมการ PPP ทราบ
ส่วนโครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้านบาทนั้น คณะกรรมการ PPP ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการนั้นได้ เพื่อให้การดำเนินโครงการไม่ล่าช้า และไม่เป็นภาระกับหน่วยงานเจ้าของโครงการมากเกินไป
นายกุลิศ เปิดเผยถึงกระบวนการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนตามกฏหมาย PPP ว่า ขณะนี้คณะกรรมการ PPP ได้ให้ความเห็นชอบกฏหมายลำดับรองไปแล้ว 14 ฉบับจาก 17 ฉบับ เพื่อให้โครงการ PPP สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว หลังจากหยุดชะงักมาเกือบ 2 ปี ซึ่งกระบวนการที่กำหนดไว้ในกฏหมายลำดับรองเริ่มจาก 1.หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าโครงการ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดวิธีการในการคำนวณมูลค่าโครงการทั้งเงินลงทุนและทรัพย์สินทั้งภาครัฐและเอกชนตลอดอายุโครงการเฉพาะที่ใช้ดำเนินโครงการเท่านั้น และให้หน่วยงานสามารถเลือกคำนวณส่วนใดก่อนก็ได้
2.กระบวนการประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชน ซึ่งให้ดำเนินการตามกฏระเบียบเดิม แต่ปรับให้มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น 3.มีการกำหนดหัวข้อสำคัญที่ต้องเป็นมาตรฐานในสัญญาร่วมลงทุน เช่น สิทธิและหน้าที่ของแต่ละฝ่าย การกำหนดอัตราค่าบริการและผลประโยชน์ตอบแทน และสัญญาร่วมลงทุนต้องไม่มีการต่ออายุสัญญาแบบอัตโนมัติ การไม่ให้เอกชนเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการฝ่ายเดียวได้ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ตั้งแต่วันที่จะเริ่มโครงการไม่ให้เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
4.ลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่เป็นสาระสำคัญ เพื่อรักษาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนและผลประโยชน์ของภาครัฐเป็นสำคัญ หากการเปลี่ยนแปลงใดที่ส่งผลกระทบกับผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการผลประโยชน์ของภาครัฐ หรือเป็นการเพิ่มประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายเอกชน จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทำให้ลดปัญหาในการกำกับดูแลสัญญาและเพิ่มความโปร่งใสในการแก้ไขสัญญา ซึ่งกฏหมายลำดับรองจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้ เพื่อให้โครงการร่วมทุนต่างๆ สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ PPP 5 ปี ซึ่งสคร.จะนำร่างแผนดังกล่าวหารือกับกระทรวงต้นสังกัด เพื่อจัดลำดับว่าในแต่ละปีจะมีโครงการลงทุนประเภทใดบ้าง โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในกลางเดือนมี.ค. และนำเสนอครม.ในช่วงต้นเดือนเม.ย. โดยคาดว่าจะสามารถประกาศแผนยุทธศาสตร์ PPP ให้เอกชนรับทราบ Project Pipeline กรอบระยะเวลา และรูปแบบการร่วมลงทุนของเอกชนในโครงการ PPP ต่างๆ ได้ภายในเดือนเม.ย.หลังครม.ได้อนุมัติแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่ในปี 2558 จะเริ่มประกาศยุทธศาสตร์ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และเรื่องดิจิทัลอีโคโนมี และแผนบริหารจัดการน้ำ
ด้านแผนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งใน 8 ปี 2558-2563 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เบื้องต้นมีโครงการในรูปแบบ PPP ประมาณ 3 แสนล้านบาท ที่ประชุมได้มอบหมายให้สคร.หารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมเพื่อเพิ่มสัดส่วนโครงการในรูปแบบ PPP มากขึ้น ส่วนโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งเป็นความร่วมมือไทย-จีน ในขณะนี้ยังไม่อยู่ในรูปแบบ PPP