KBANK คาด GDPQ1/58 โตต่ำกว่าเป้า แต่ทั้งปียังโต 4%หวังลงทุนภาครัฐช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 11, 2015 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/58 จะเติบโตที่ระดับ 1.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เติบโตราว 3% แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/57 แล้วถือว่ายังสามารถเติบโตได้เล็กน้อย โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจไทยไนไตรมาสแรกเติบโตต่ำกว่าคาดนั้น มาจากปัจจัยกดดันของภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยูโรโซนและจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยที่เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้การคาดการณ์ภาคการส่งออกไทยในปีนี้คาดว่าจะมีการปรับประมาณการลดลงเหลือเติบโตได้เพียง 1-2% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3%

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของประเทศสิงคโปร์, สวิสเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ได้ใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย ประกอบกับในเดือนนี้จีนได้มีการปรับการตั้งสำรองเงินฝากลดลงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ภาพของกระแสเงินทุนนั้นยังไม่มีการไหลเข้ามาในประเทศไทยมากนัก รวมไปถึงตลาดเกิดใหม่ โดยปัจจัยที่กล่าวมายังไม่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ดี ธนาคารยังเชื่อว่า GDP ของไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 4% ตามประมาณการเดิม จากแรงผลักดันการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐที่จะมาช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงการบริโภคของภาคครัวเรือนหลังจากปีที่ผ่านมา GDP ขยายตัวได้เพียง 0.8% ซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ

ด้านค่าเงินบาทนั้น มองกรอบการเคลื่อนไหวในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ในกรอบ 32.00-33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าลง 3% และเป็นการเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อย่างไรก็ดี ในเดือนมี.ค.นี้จะเริ่มเห็นการจ่ายเงินปันผลของบริษัทญี่ปุ่นช่วงปิดงบปลายปี ซึ่งพิจารณาดูแล้วทิศทางการเคลื่อนไหวปีนี้จะมีแนวโน้มอ่อนค่าจากปัจจัยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) ที่คาดว่าจะปรับขึ้นท้ายไตรมาส 3 อาจจะส่งผลกดดันค่าเงินบาท ทำให้อ่อนค่าสุดที่ระดับ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

พร้อมกันนี้ ได้แนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระจายการสำรองเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง หลังถือครองค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อความผันผวนระยะกลางถึงระยะยาว และสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น นายกอบสิทธิ์ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 58 ไว้ที่ระดับ 2% โดยมองว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสมและยังสามารถผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ แม้ว่าราคาน้ำมันที่มีการปรับลดลงจะส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อของไทยอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงนั้นได้ช่วยสนับสนุนให้ต้นทุนการผลิตลดลงและการบริโภคภายในประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นได้

ส่วนการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(FED) จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นนั้น ธนาคารกสิกรไทยยังคงเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะไม่ปรับขึ้นตามสหรัฐฯ ในปีนี้ เนื่องจากธปท.อาจต้องการให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ปรับลดลง

ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 58 จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐทั้งงบประมาณเก่า 2.5 พันล้านบาท และงบประมาณใหม่ 2.77 พันล้านบาท เบิกจ่ายออกมาไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทำให้รัฐบาลต้องเร่งการเบิกจ่ายงาประมาณออกมาในช่วงที่เหลือของปี เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ และเพื่อการผลักดันให้ภาคเอกชนได้ทยอยลงทุนตาม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนด้วย

ขณะที่ภาคการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ยังมีการขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ไม่ถึง 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมาย โดยจะขยายตัวได้อยู่ 2-3% เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรปมีปัญหาและไม่มีการฟื้นตัว โดยจะต้องจับตาประเด็นของประเทศกรีซว่าจะยังรวมอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไปหรือไม่ เพราะหากกรีซออกจากกลุ่มยูโรโซนจะมีผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ไปถึงประเทศอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เนื่องจากอาจจะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกรอบ และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การค้าโลกได้

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ต่ำสุดในรอบ 20-30 ปี กดดันการขยายตัวของภาคการส่งออกไทย เพราะประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนโตต่ำกว่าเป้าหมายจะกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยได้

"อยากเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งการค้าชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษ และกำหนดเป้าหมายตลาดส่งออกในแต่ละประเทศให้ชัดเจน พร้อมรักษามาร์เก็ตแชร์ของตลาดเก่าไว้ ขณะที่ภาคเอกชนจะต้องปรับโครงสร้างการผลิต เน้นผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเพื่อทำให้เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้"นายสมชาย กล่าว

ขณะเดียวกันมองว่าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย โดยประเมินว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปี 58 จะอยู่ในกรอบ 32.75-33.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตากระแสเงินทุนไหลเข้าและไหลออก เพราะจะส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ