สสว.มองธุรกิจ SMEs ปี 58 ขยายตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นศก.ของรัฐบาลหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 13, 2015 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ SMEs ในปี 2558 จะขยายตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจของ SMEs (SMEs Leading Economic Index) ณ เดือน ธ.ค. อยู่ที่ระดับ 111.03 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาร้อยละ 0.32 และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งปัจจัยบวกมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา การส่งเสริม SMEs ของหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน รวมถึงสถาบันการเงิน เช่น การส่งเสริมการลงทุน การสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน การสนับสนุนแหล่งเงินทุน SMEs ฯลฯ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยแนวโน้มที่ดีขึ้นนี้สะท้อนได้จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตรถยนต์นั่งขนาด 1,501-1,800 CC รถปิคอัพ รวมถึงพาหนะเพื่อการพาณิชย์ และพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาต

สำหรับสถานการณ์ SMEs ประจำเดือนธันวาคม และรอบปี 2557 (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายปีเป็นต้นมา เนื่องจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญส่งผลให้การส่งออกสินค้าของ SMEs ไทย เพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นโดยเดือน ธ.ค. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 2.84 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องผนวกกับการปรับโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมัน รวมถึงราคาพลังงานต่างๆ ลดลง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนดำเนินกิจการลดลง

ด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs พบว่า การส่งออกในเดือน ธ.ค. มีมูลค่า 154,983 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ก่อนร้อยละ 5.85 และหดตัวลงจากเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาร้อยละ 1.27 ขณะที่รอบปี 2557 การส่งออกมีมูลค่า 1,917,192 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.15

ตลาดหลักที่ SMEs ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุดในรอบปี 2557 ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 509,437 ล้านบาท รองลงมาคือ จีน มูลค่า 233,943 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 198,399 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 185,167 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 149,634 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่าการส่งออกไป ทุกตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 3.61-14.72 โดยมีกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นตลาดที่ขยายตัวสูงที่สุด ผลจากมีการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) กับไทยในปี 2558 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มสหภาพยุโรป (มาตรการ QE) ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในยูโรโซนขยายตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของ SMEs ในระยะยาว

สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุดในเดือน ธ.ค. และรอบปี 2557 ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และยานยนต์และส่วนประกอบ โดยหมวดสินค้าสำคัญที่มีการขยายตัวสูงมากตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมา คือ น้ำตาล ซึ่งมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98.1 ทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน ผลจากที่หลายประเทศหันมานำเข้าน้ำตาลจากไทยมากขึ้น ทดแทนผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิลซึ่งมีผลผลิตลดลง

ส่วนการนำเข้าของ SMEs เดือน ธ.ค. มีมูลค่า 177,347 ล้านบาท หดตัวลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาร้อยละ 3.44 และ 13.06 ตามลำดับ ขณะที่รอบปี 2557 การนำเข้ามีมูลค่า 2,216,015 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.26 ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าในรอบปี 2557 สูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 618,034 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 328,789 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 309,606 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 261,053 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 144,478 ล้านบาท สินค้าที่ SMEs นำเข้าสูงสุดในเดือน ธ.ค. และรอบปี 2557 ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ

ในด้านการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่เดือน ธ.ค. 2557 มีจำนวน 3,321 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.28 แต่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาร้อยละ 24.90 ซึ่งกิจการที่จัดตั้งใหม่มีทุนจดทะเบียนมูลค่า 31,387 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาร้อยละ 7.17 และ 12.59 ส่วนในรอบปี 2557 มีกิจการจัดตั้งใหม่ 59,468 ราย หดตัวลงเมื่อเทียบกันปีก่อนร้อยละ 11.67 โดยทุนจดทะเบียนมีมูลค่า 281,123 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ร้อยละ 25.78 ประเภทกิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุดในเดือน ธ.ค.ได้แก่ ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ผลิตไฟฟ้า และให้คำปรึกษาด้านการตลาด ตามลำดับ

ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการในเดือน ธ.ค.2557 มีจำนวน 5,040 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนและเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ร้อยละ 9.99 และ 142.19 โดยทุนจดทะเบียนของกิจการที่ยกเลิกมีมูลค่า 14,244 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาร้อยละ 6.05 และ 55.09 ส่วนในรอบปี 2557 มีกิจการที่ยกเลิกรวม 18,968 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.79 โดยทุนจดทะเบียนของกิจการที่ยกเลิก มูลค่า 75,977 ล้านบาท หดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 23.05 ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุดในเดือน ธ.ค. ได้แก่ ขายสลากกินแบ่ง ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย การให้คำปรึกษาด้านการจัดการ และขายส่งเครื่องจักร ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ