"แนะนำว่า กนง.ควรจะมีการลดดอกเบี้ย อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ใน trend เดียวกันกับประเทศอื่นๆ ไม่ควรฝืน trend ของโลก หากเราฝืนจะส่งผลกระทบทั้งในด้านของความผันผวนของค่าเงิน การไหลเข้าออกของเงิน รวมไปถึงการส่งออก"นายทนง กล่าว
ทั้งนี้ นายทนง มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ราว 3-3.5% ได้รับแรงผลักดันหลักจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ แต่เชื่อว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในปีนี้คงจะทำได้ราว 80% เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาตรวจสอบ และมีขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างมาก ดังนั้น เศรษฐกิจปีนี้คงไม่เติบโตถึง 4% ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ ขณะที่การส่งออกน่าจะยังไม่ดีนัก เพราะทั่วโลกยังอยู่ในภาวะของเงินฝืด ส่วนของราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ ไม่ได้เป็นผลมาจากการลดลงตามฤดูกาล แต่มาจากการที่ภาครัฐหยุดอุดหนุน
"ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ มาจากการลงทุนของภาครัฐ ถ้าหากทำตามแผนได้หมดทุกโครงการ 100% น่าจะทำให้เศรษฐกิจโตได้มากกว่า 4% แต่ผมมองว่าโครงการภาครัฐจะมีความล่าช้า 10-20% และในมุมของจีดีพีปีนี้จะโตได้เพียง 3-3.5%"นายทนง กล่าว
นายทนง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมาจากการเติบโต 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกลุ่มในเมืองเป็นหลักที่พบว่ามีการเติบโตที่ดี สวนทางกับอีกกลุ่ม คือ กลุ่มกลุ่มรากหญ้าหรือชนบท โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเกษตรยังชะลอตามราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจในชนบทที่พึ่งพิงรายได้จากภาคการเกษตรที่อ้างอิงการเติบโตจากราคาสินค้าเกษตร เพราะโครงสร้างดังกล่าวมีปัญหามานานหลายปี จากการที่หลายรัฐบาลอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร เมื่อรัฐบาลนี้ไม่อุดหนุน แม้ว่าชาวบ้านจะพออยู่ได้แต่ก็ไม่มีเงินสะพัด จึงฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมลง สวนทางกับเศรษฐกิจในเมืองที่เติบโตได้จากการพึ่งพาอุตสาหกรรมและการอัดฉีดของถภาครัฐ
“ต้องวางพื้นฐานแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะเจอปัญหากับดักรายได้ของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง คือเป็นประเทศที่ทุกคนมีงานทำ การว่างงานน้อย แต่เศรษฐกิจเติบโตน้อย คือในประเทศปกติทุกคนมีงานทำเศรษฐกิจจะโตได้ถึง 8% แต่บ้านเราทุกคนมีงานทำแล้วโตได้เพียง 1-3% ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ควรปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในชนบท ซึ่งไม่ใช่เศรษฐกิจในเมืองที่พึ่งพาอุตสาหกรรมเป็นหลัก"นายทนง กล่าว