โดยสภาพัฒน์คาดว่า ในปี 58 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลดีให้อำนาจซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นราว 2 แสนล้านบาท หรือ 1.7% ของ GDP ซึ่งจะเป็นการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ส่วนข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนและยังเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการผลิตภาคเกษตร, ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความผันผวนสูง, แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศคู่ค้าและคู่แข่งจากการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนและการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเร็วกว่าเงินบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการ QE ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน รวมถึงปัจจัยอัราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งการลดลงของราคาน้ำมันทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 58 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 57 โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมัน การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ และการเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรกในขณะที่การปรับตัวของสถานการณ์ด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังยังเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
สภาพัฒน์ ประเมินแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 58 ราว 3.5-4.5% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 3.5% การบริโภคของครัวเรือนและ การลงทุนรวมขยายตัว 2.9% และ 6.0% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.0-1.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9% ของ GDP ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ราว 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 58 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.5% เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัว 3.2% ในปี 57 สนับสนุนโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวช้าๆ ท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปี 57 และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่และภูมิภาคอาเซียนปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาและแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลดลง
การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันทำให้ทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐฯ และประเทศสำคัญๆ อื่นๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและยุโรปยังอยู่ในช่วงของการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆ
การแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือและการชะลอตัวของเศรษฐกิจผู้บริโภคน้ำมันที่สำคัญๆ ยังทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอและพึ่งพิงรายได้จากสินค้าขั้นปฐมมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น
นายอาคม ระบุว่า ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของไทยในปี 58 ต้องให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตรเพิ่มเติมจากมาตรการการให้เงินช่วยเหลือการผลิตและสินเชื่อต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (2) การดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ (3) การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเสริมและการยกระดับทักษะสำหรับผู้มีรายได้น้อย (4) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 4.0%
(5) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงค้างอยู่และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วงปลายปี 57 รวมทั้งเร่งรัดติดตามโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริม การลงทุนแล้วให้ดำเนินการลงทุนโดยเร็ว (6) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (7) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/58 จะมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีแรงหนุนสำคัญจากการเริ่มลงทุนก่อสร้างในโครงการสำคัญต่างๆ ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับการอนุญาตการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)
"หากแนวโน้มการลงทุนเพิ่มขึ้น บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเริ่มต้นก่อสร้าง ก็จะทำให้ GDP ของเราเติบโต และสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปีนี้เราหีบอ้อยช้า เพราะฉะนั้นผลผลิตอ้อยและน้ำตาลจะออกในไตรมาสที่ 1 ก็เชื่อว่า GDP ในไตรมาสที่ 1 จะเป็นบวกแน่นอน" นายอาคมระบุ