"เวลาเงินเฟ้อสูงๆ เราต้องเฝ้าดู แต่ถ้ามันลงมากไปก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน ในต่างประเทศเขาไม่รอให้เงินเฟ้อลงไปถึง 0% หรือติดลบ เพราะแค่ใกล้ 0% เขาก็มีมาตรการออกมาแล้ว เช่นการออกนโยบายทางการเงินเข้ามาช่วย ดูจากหลายประเทศที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์, จีน เขาไม่รอให้เงินเฟ้อลงไปติดลบ แค่ใกล้ 0% เขาก็ปรับนโยบายแล้ว ดังนั้นคงต้องเฝ้าระวัง ส่วนผู้ที่ดูแลนโยบายด้านการเงินก็คงต้องดูกันต่อ" เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นหรือไม่ต้องพิจารณาจาก 2 ด้าน คือ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเงินฝืดต้องมาจากการไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย และไม่มีเงินอยู่ในระบบ แต่หากพิจารณาข้อเท็จจริงในขณะนี้แล้วเศรษฐกิจของไทยก็ยังขยายตัว ประกอบกับ ระดับรายได้ก็ยังขยายตัว เพียงแต่ราคาสินค้าอาจจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปัจจัยการผลิตในส่วนของต้นทุนน้ำมันและค่าขนส่งที่ลดลง อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งเงินเฟ้อทั้งที่อยู่ในช่วงขาขึ้นและในช่วงขาลง