ไอซีทีร่วม สอท.ดันนโยบาย Digital Economy สู่อุตฯ คาดเข้าร่วม 3 พันราย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการที่จะช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันนโยบาย Digital Economy ไปสู่ภาคอุตสาหกรรมให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจ การค้า โดยใช้ออนไลน์ตั้งแต่การทำธุรกรรม (e-Business) ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (Supply Chain) รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community : AEC) โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการส่งเสริม e-Business สู่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 3,000 ราย

สำหรับเป้าหมายของกรอบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลสำหรับประเทศไทยนั้น ประกอบด้วย 1) การมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัยมีขนาดเพียงพอและมีค่าบริการไม่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 2) เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต และการเข้าถึงบริการสาธารณะของประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกท้องถิ่น อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 3) สร้างผู้ประกอบการและธุรกิจดิจิทัลให้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพ (Productivity) ของประเทศ 4) สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ 5) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้และผู้ทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล 6) มีการพัฒนากำลังคน การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวมทั้งระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 7) ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 8) สร้างความพร้อมด้านไอซีทีโดยรวมของประเทศไทยเพื่อยกอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ

กรอบยุทธศาสตร์ด้าน Digital Economy Promotion มีองค์ประกอบ 4 ด้าน คือ ด้าน Digital Commerce หรือ พาณิชย์ดิจิทัล ซึ่งหมายถึง การค้าที่อยู่บนพื้นฐานของการหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดองค์ความรู้เชิงธุรกิจให้กับธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และสร้างธุรกิจเกิดใหม่ (Start up) ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจในการปรับเปลี่ยนแนวคิดและกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process) บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนโฉมการดำเนินธุรกิจ (Business Transformation)

โดยมุ่งเน้นระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ด้าน Digital Entrepreneur หรือ ผู้ประกอบการดิจิทัล ซึ่งหมายถึง เจ้าของธุรกิจที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพในการบริหารจัดการ การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจแบบเดิม

ด้าน Digital Innovation หรือนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งหมายถึง ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนบนพื้นฐานของการหลอมรวมเทคโนโลยี Digital Supply Chain และด้าน Digital Content ได้แก่ ข้อมูล/สารสนเทศ (Information) ที่ถูกนำมาผ่านกระบวนการประมวลผลแล้วแสดงผลผ่านทางอุปกรณ์ดิจิตอลต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร หรือแม้แต่โทรทัศน์หรือโรงภาพยนตร์ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบ Digital เป็นหลัก

นางเมธินี กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy นั้น กระทรวงไอซีทีซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ได้มีทิศทางการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 4 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมผู้ประกอบการค้ารุ่นใหม่ 2) ส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม 3) ปรับรูปแบบการค้าการลงทุนในเชิงธุรกิจดิจิทัล และ 4) เกิดตลาดใหม่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการ จึงได้ร่วมประชุมหารือกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการด้านการผลิตที่เป็น SMEs จำนวนมาก ในการที่จะสนับสนุนนโยบาย Digital Economy ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ