ทั้งนี้ PwC ได้สำรวจล่าสุด 18th Annual Global CEO Survey: A marketplace without boundaries? Responding to disruptionที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประจำปี 58 ระหว่างเดือน ก.ย.-ธ.ค.57 โดยได้สำรวจความคิดเห็นของซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,322 รายใน 77 ประเทศ ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 76 รายใน 7 ประเทศ
นายศิระ กล่าวว่า ซีอีโอในอาเซียนมองว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคตัวเอง และเศรษฐกิจในประเทศหลักจะฟื้นตัว กอปรกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การขยายตัวของสังคมเมืองและกำลังซื้อของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
“ผมมองว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนในปี 58 น่าจะเติบโตจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และภายหลังจากเราก้าวเข้าสู่เออีซี น่าจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะภูมิภาคเราถือเป็นฐานการผลิตสำคัญของหลายๆ อุตสาหกรรม"นายศิระ กล่าว
นายศิระ กล่าวว่า วันนี้ภาคธุรกิจอาเซียนมีความเชื่อมั่นมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง มีเพียงสหรัฐที่ฟื้นตัวชัดเจน เชื่อว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเรายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเปิดเสรีการค้าอาเซียนในปลายปีนี้ น่าจะส่งผลให้การค้าและการลงทุนมีความคึกคัก สามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บทบาทของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับที่ 1 ของไทย ที่กำลังดำเนินนโยบาย Going out Policy หรือผลักดันให้ธุรกิจจีนขยายการลงทุนไปต่างประเทศทำให้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากจีนเข้ามาอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ รวมถึงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิต
อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ (Business threats) ในภูมิภาคอาเซียน ปัญหาการติดสินบนและคอร์รัปชั่น (79%) และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (78%) ยังเป็นคงประเด็นที่บรรดาซีอีโอแสดงความกังวลมากที่สุดในปีนี้