ส่วนสายบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กิโลเมตร และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร มีความพร้อมในการก่อสร้างแล้ว โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมของโครงการ โดยกรมฯเสนอขอใช้เงินกู้ภายในประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด
นายชูศักดิ์ กล่าวถึงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยการปรับปรุงโครงข่ายให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ถนนเกิดการชำรุดเร็วขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเสนอขอจัดสรรงบซ่อมบำรุงถนนในปี 2559 ถึง 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ได้รับงบซ่อมบำรุง 20,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้จะต้องมีการกำหนดสายทางรถจะวิ่งได้และควบคุมน้ำหนักบรรทุกที่ไม่เกิน 50.5 ตัน
ทั้งนี้ กรมฯ จะต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ 6 ด่านตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ พัฒนาด่านแม่สอด จ.ตาก วงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 พร้อมถนนโครงข่าย นอกจากนี้ยังมีด่าน จ.มุกดาหาร, ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด, ด่านสะเดา จ.สงขลา เป็นต้น ซึ่งจะทยอยของบประมาณในการพัฒนาปรับปรุง
"การเปิด AEC ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 590 ล้านคน จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบและสินค้าเพิ่มมากขึ้น เพราะถนนเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิตและส่งออก โดยกรมทางหลวงมีหน้าที่ในการเตรียมโครงข่ายรองรับที่เพียงพอเพื่อส่งเสริมการค้าของภาคธุรกิจไทย เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการไทย" นายชูศักดิ์ กล่าว