(เพิ่มเติม) ธปท.ยันไม่ใช้นโยบายการเงินสกัดเงินเฟ้อติดลบ, มองส่งออกโตน้อยกว่าสภาพัฒน์คาด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 17, 2015 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ขณะนี้จะยังไม่ใช้นโยบายการเงินเพื่อสกัดปัญหาอัตราเงินเฟ้อติดลบที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวปรับตัวลดลง หลังจากที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าอัตราเงินเฟ้อ(CPI)ของไทยในเดือนม.ค.58 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4% ดังนั้นในส่วนของนโยบายการเงินคงไม่ต้องดำเนินการอะไรเป็นพิเศษ โดยธปท.ยังเชื่อว่าทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะยังขยายตัวเป็นบวก

โฆษก ธปท. กล่าวว่า ตามที่สภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP ในปี 57 ว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.7% นั้น ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประเมินไว้ที่ 0.8% แต่ทั้งนี้มองว่าการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งมีสาเหตุจากรายได้ภาคการเกษตรตกต่ำติดต่อกันเป็นปีที่ 3 และคาดว่ารายได้ภาคเกษตรในปีนี้จะยังชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลต่อการบริโภค เพราะรายได้ภาคเกษตรคิดเป็น 11% ของรายได้รวมของประเทศ อันจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย

ส่วนความเชื่อมั่นในการบริโภคช่วงไตรมาส 4/57 ลดลงจากไตรมาส 3/57 ซึ่งจากที่ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ก็พบว่าความเชื่อมั่นในการบริโภคเดือนม.ค.57 ยังคงทรงตัว รวมทั้งหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 84.7% ของ GDP

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ดีจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีเงินเหลือสำหรับการจับจ่ายใช้สอยในด้านอื่นๆ แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะจึงจะเห็นว่ามีการจับจ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนใด ซึ่งการบริโภคที่ฟื้นตัวนั้นจะต้องดูจากสินค้าคงทน เพราะหากเริ่มมีการซื้อสินค้าคงทนก็เท่ากับเห็นสัญญาณการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

ขณะที่การส่งออกในปี 58 นั้น ธปท.ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในเรื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดต่ำลง โดยสินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วน 18% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม ทำให้ธปท.คาดว่าการส่งออกในปีนี้คงจะอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งต่ำกว่าที่สศช.ประเมินไว้ที่ 3.5%

นายจิรเทพ กล่าวด้วยว่า ธปท.ไม่ได้กังวลต่อสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงนี้ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 58 ที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยรวมแล้วเงินลงทุนในหลักทรัพย์ไหลออกสุทธิตามการไหลออกของเงินทุนจากตลาดพันธบัตร (ม.ค.-5 ก.พ.58 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 418 ล้านดอลลาร์) แม้จะมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นไทย(ม.ค.-13 ก.พ.58 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 108 ล้านดอลลาร์)

โดยเดือนม.ค.58เงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรรวมกว่า 300 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากตลาดพันบัตร ขณะเดือนก.พ.58 เงินทุนในหลักทรัพย์ไหลเข้าสุทธิตามการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดหุ้นไทยกว่า 200 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินทุนยังคงไหลออกจากตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ต้นปีมีเงินทุนไหลออก 310 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินทุนที่ไหลออกนั้นเป็นการปรับตัวตามตลาดสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ธปท.จะติดตามสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และเข้าใจดีว่าที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลเพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจมหภาค

ส่วนการติดตามผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น พบว่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ แม้จะมีการไหลออกในหลักทรัพย์ แต่ในส่วนของการลงทุนโดยตรง(FDI) ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โดย ณ สิ้นธ.ค.57 มูลค่า FDI อยู่ที่ 560 ล้านดอลลาร์

สำหรับประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น จากหารือกับผู้ประกอบการในขณะนี้ยังไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ ซึ่งการจะกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ธปท.มองว่าต้องผสมผสานร่วมกันระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง และมองว่าการใช้นโยบายการคลังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่าการใช้นโยบายการเงิน เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ