ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค.นี้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการลงทุนและการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยฝ่ายไทยเห็นว่าจะเลือกรูปแบบการลงทุน EPC(Engineering Procurement and Construction) รวมทั้งสัดส่วนการลงทุน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีนได้เสนอเงื่อนไขเงินกู้ โดยหากเป็นสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะคิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี แต่หากเป็นสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี โดยกำหนดระยะเวลาชำระคืนหนี้ 20 ปี ซึ่งมีระยะเวลายกเว้นชำระหนี้ช่วง 5 ปีแรก
ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ไทยคาดว่าจะไม่ใช่เงินกู้จากจีนทั้งโครงการ จะเลือกเฉพาะส่วนที่ต้องซื้อจากจีน ได้แก่ระบบรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณซึ่งเป็นเทคโนโลยีของจีน
ส่วนงบประมาณที่จะใช้สำหรับงานโยธา(Civil Work) จะใช้เงินกู้ในประเทศ และให้เอกชนเข้ามามีส่วนได้งาน ขณะที่การเวนคืนที่ดินจะใช้งบประมาณ อีกทั้งกระทรวงการคลังอาจจะออกพันธบัตร หรือการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังมีแหล่งเงินอื่นในต่างประเทศ ทั้งนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสมในกรณีที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้จะนำงบกลางงบประมาณทยอยลงทุน
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงจากการหารือครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11-13 ก.พ.ที่ผ่านมา ทางไทยจะรับผิดชอบเรื่องการเวนคืนที่ดินและศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม(EIA) โดยทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันศึกษารวมถึงการสำรวจและออกแบบ โดยจีนจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาไทยเพื่อดำเนินการในช่วงเดือน ก.พ.นี้ แบ่งการดำเนินการเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1-2 เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย และเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด คาดศึกษาความเหมาะสมของโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ และเริ่มต้นโครงการในเดือน ต.ค.58 แล้วเสร็จภายในเวลา 30เดือน
ช่วงที่ 3-4 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา และเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ดำเนินศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 58 และเริ่มต้นโครงการในไตรมาส 1/59 โดยให้แล้วเสร็จภายในเวลา 36 เดือน
นอกจากนี้จีนพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเทคนิคทางราง ระบบควบคุม ระบบไฟฟ้า การเดินรถ การบำรุงรักษา และพิจารณาข้อเสนอของไทยที่ขอให้จีนตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนและโรงงานซ่อมบำรุงในไทย และจีนพร้อมเข้าร่วมการสร้างศูนย์ควบคุมการก่อสร้างศูนย์ควบคุมการก่อสร้างรถไฟในภูมิภาค การผลิตชิ้นส่วนและศูนย์โลจิสติกส์ตามข้อเสนอของไทย เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันสปป.ลาวและมาเลเซียมีความร่วมมือกับจีนในเรื่องรถไฟเช่นกัน