สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 4 เดือนแรกงบประมาณปี 2558 ทั้งในส่วนของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร รัฐวิสาหกิจและส่วนราชการอื่น ๆ ทำได้สูงกว่าเป้าหมายในปี 2558 จำนวน 1.1 พันล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.6 พันล้านบาท โดยกรมสรรพสามิตเป็นเพียงกรมเดียวที่ยังสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย ราว 1.2 พันล้านบาท ส่วนกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการนำเข้าที่ลดลงเฉลี่ย 3-4 พันล้านบาทต่อเดือน และกรมศุลกากรจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท
"ที่ผ่านมาภาครัฐมีการเร่งเบิกจ่ายทั้งจากงบประมาณ เงินลงทุนรัฐวิสาหกิจและเงินกองทุนต่าง ๆ เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยจากข้อมูลพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เม็ดเงินเข้าสู่ระบบแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นเม็ดเงินจากงบประมาณราว 9.6-9.7 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยในแง่ของความเชื่อมั่นการลงทุนภาคเอกชนให้กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น การส่งออกก็กลับมาดีขึ้น การท่องเที่ยว และเครื่องยนต์อื่น ๆ กลับมาเดินหน้าได้ดีขึ้น" นายวิสุทธิ์ กล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยการรวมกฎหมาย 7 ฉบับให้เหลือฉบับเดียวและปรับวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่เป็นใช้ราคาขายปลีกแนะนำ จากปัจจุบันใช้ราคาหน้าโรงงานและราคาขายส่งช่วงสุดท้ายในการคำนวณภาษี ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะกังวลแนวทางดังกล่าวอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ขณะที่การจัดเก็บภาษีใหม่ๆ อาทิ ภาษีชาเขียว ภาษีสิ่งแวดล้อมนั้น ยังไม่ขอพูดในรายละเอียด คงต้องมีการหารือกันก่อน