หลักการและเหตุผลในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ ดังนี้
1. ระบบการเมืองของไทยได้เข้าสู่เสถียรภาพนับตั้งแต่กองทัพได้เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ปัจจัยที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พิจารณาจากการรวมกลุ่มของภาคอุตสาหกรรม การผลิตหลัก ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนั้น R&I เห็นว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ประกอบกับเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ การบริหารการคลังอย่างระมัดระวังได้จำกัดความเสี่ยงที่ฐานะทางการคลังจะเกิดความถดถอยอย่างรุนแรง ทั้งนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ไปพร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยดังกล่าวข้างต้น R&I จึงยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
2. R&I ยังคงติดตามประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลพลเรือนที่จะจัดตั้งในปี 2559 มาตรการที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคของรัฐบาลพลเรือน ดังนั้น R&I จึงยังคงมุมมองความน่าเชื่อถือเป็นลบ และจะให้ความสนใจกับนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการติดตามผลของการปฏิรูปทางการเมืองที่จะนำไปสู่เสถียรภาพทางการเมืองได้หรือไม่
3. การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงปี 2557 ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 โดย R&I คาดว่าในปี 2558 อุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัวดีขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกยังคงชะลอตัว โดยรัฐบาลได้ประมาณการว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ในปี 2558 ดุลการค้าที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในปี 2557 โดย R&I คาดว่าประเทศไทยจะยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ในอนาคต สัดส่วนหนี้ต่างประเทศรวมต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 40 และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า 2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
4. รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลที่ร้อยละ 2.0 ของ GDP และ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 หนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ร้อยละ 45.8 ของ GDP โดยกระทรวงการคลังประมาณการว่าระดับหนี้สาธารณะ ในอนาคตจะไม่เกินร้อยละ 50 ของ GDP และ R&I ไม่กังวลในประเด็นหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อาจปรับสูงกว่า ร้อยละ 50 ได้ หากเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ดี จากการที่รัฐบาลปัจจุบันได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่ง R&I จะติดตามความสามารถในการเบิกจ่ายของรัฐบาลควบคู่ไปกับการควบคุมดุลการคลังให้เป็นไปตามแผนด้วย