"คณะบุคคลได้ร่วมหารือกันในวันนี้ และเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนรูปแบบการจัดเวทีกลาง มาเป็นการพูดคุยกลุ่มเล็ก โดยเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งเป็นประธานแทนม.ล.ปนัดดา และขอให้ภาคประชาชนเป็นผู้กำหนดบุคคลที่จะเข้าร่วมในการหารือกับรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเอง เพราะขณะนี้มีรายชื่อบุคคลที่ไม่เคยร่วมในการเคลื่อนไหวได้เข้ามาเป็นตัวแทนภาคประชาชนมากขึ้น"นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมอภิปรายบนเวทีครั้งนี้ด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีข้อมูลเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมค่อนข้างมาก และหากรัฐบาลไม่สามารถปรับรูปแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ได้ลงตัว ก็ควรจะเลื่อนการจัดรับฟังความคิดเห็นออกไปอีก 1 สัปดาห์ โดยในวันพรุ่งนี้ทางคณะบุคคลจะเข้าหารือกับม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงการจัดรูปแบบเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว
ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีสัดส่วนของผู้เข้ารับฟังทั้งหมด 300 ที่นั่ง แต่มีตัวแทนจากภาคประชาชนที่จะเข้ารับฟังเพียง 20 ที่นั่งเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนน้อยมาก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตามหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอในการปรับรูปแบบการหารือให้เหมาะสมต่อไปด้วย
สำหรับจุดยืนของคณะบุคคล เห็นว่ารัฐบาลควรชะลอการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมก่อน ซึ่งหากใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็เชื่อว่าจะทำให้การร่างกฎหมายใหม่ใช้เวลาไม่มากนัก และจะไม่กระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอนาคต
เมื่อต้นสัปดาห์กลุ่มคณะบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตราชการ และนักวิชาการ ได้แก่ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรมว.กระทรวงต่างประเทศ,นายอภิสิทธิ์,นายธีระชัย , นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น ได้ร่วมลงนามในหนังสือเปิดผนึกเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปอย่างน้อย 2 ปี และเร่งให้เกิดการว่าจ้างสำรวจศักยภาพปิโตรเลียมในแหล่งเหล่านี้ พร้อมแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐได้รับผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียมจากปัจจุบันที่สิทธิในปิโตรเลียมเป็นของผู้ที่ได้รับสัมปทาน
ต่อมารัฐบาลได้ขยายเวลาการเปิดรับข้อเสนอการยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปถึงวันที่ 16 มี.ค.58 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 18 ก.พ.นี้ และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งนี้ ในวันที่ 20 ก.พ.ภายใต้ชื่องาน"เดินหน้าประเทศไทย เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน" ที่ตึกสันติไมตรีหลังนอก โดยรูปแบบ จะให้ฝ่ายตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และตัวแทนจากฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ตอบคำถาม 9 ข้อที่ได้จัดส่งให้กับตัวแทนทั้งสองฝ่ายแล้ว ซึ่งรัฐบาลคาดว่าการจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถสร้างความเข้าใจให้กับสังคมได้มากขึ้น
ปัจจุบัน กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง