ขณะที่รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายอยู่ที่ 6.75 หมื่นล้านบาท หรือ 15% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 41.80% หรือต่ำกว่าเป้าหมายราว 26.77% โดยคิดเป็นวงเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 58 เพิ่มเติม โดยกำหนดให้กรณีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นที่ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว และมีความพร้อมจะเริ่มดำเนินการหรือสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 31 มี.ค.58 และให้เร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณภายในวันที่ 30 ก.ย.58
กรณีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่ไม่สามารถเริ่มดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันโครงการ หรือรายการได้ภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ รวมถึงได้พิจารณาทบทวนความจำเป็นแล้วเห็นว่าโครงการหรือรายการดังกล่าวไม่จำเป็น ไม่สามารถดำเนินการได้ หรือซ้ำซ้อน และคาดว่าจะไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ทันภายในวันที่ 30 ก.ย.58 ให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยให้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล 11 ด้าน ยุทธศาสตร์ของ คสช. 9 ด้าน นโยบายความมั่นคง ซึ่งรวมถึงนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไข 11 เรื่อง อาทิ การค้ามนุษย์ และยาเสพติด เป็นต้น
หรือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีเร่งด่วน หรือเป็นรายการงบประมาณที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงงบเพื่อแก้ไขปัญหาของหน่วยงานในกรณีฉุกเฉิน จำเป็น การชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภค หรือชดเชยค่าก่อสร้างตามสัญญาปรับแบบราคาได้ (ค่า K) เป็นรายการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อทางราชการ ส่วนงบกลางที่ส่วนราชการได้รับการจัดสรรไปใช้จ่ายบรรลุวัตถุประสงค์แล้วมีเงินเหลือจ่าย ให้ส่งคืนสำนักงบประมาณ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนนำเงินไปใช้ ต้องเสนอรัฐมนตรีที่รับผิดชอบพิจารณาเห็นชอบก่อน
สำหรับการปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องเสนอต่อรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เพื่อพิจารณาเห็นชอบภายในวันที่ 30 เม.ย.58 โดยการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณดังกล่าวไม่ควรโอนไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ยกเว้นกรณีไปปฏิบัติตามภารกิจสนธิสัญญาหรือข้อผูกพันทางกฎหมาย ไม่ควรโอนงบประมาณไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อยานพาหนะ ค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรที่จะก่อให้เกิดภาระงบประมาณระยะยาวในอนาคต โดยให้สำนักงบประมาณนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ไปประกอบการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2559 อย่างเข้มงวด
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังรับทราบการเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายภาครัฐ โดยให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.58 ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเจ้าสังกัดกำกับดูแลหน่วยงานให้ดำเนินการตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนด โดยนำผลไปประกอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป
รวมถึงมอบหมายให้สำนักงบประมาณ จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีรายจ่ายลงทุนสูงสุด 9 หน่วยงาน ซึ่งมีวงเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 2.44 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นกว่า 50% ของงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 โดยปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 3.11 หมื่นล้านบาท หรือ 12.73% เหลืออีกราว 87% ยังไม่ได้ทำการเบิกจ่าย โดย 9 หน่วยงานดังกล่าวได้มีการส่งแผนการเบิกจ่ายเข้ามา โดยคาดว่าในระยะต่อไปจะสามารถเบิกจ่ายได้ 1.7 แสนล้านบาท หรือ 69.86% ซึ่งเมื่อรวมกับที่ได้ทำการเบิกจ่ายไปก่อนหน้านี้ จะคิดเป็น 82.59%
"ใน 9 ส่วนราชการนั้น มี 5 ส่วนราชการที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้สูงกว่า 87% ได้แก่ สำนักงานปลัดสาธารณสุข กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมชลประธาน ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 85% ส่วนกรมทางหลวงชนบท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 84% สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 73% และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 60%" นายสมศักดิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า คณะรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เหลืออีก 198 แห่ง นำแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายของ 9 ส่วนราชการ ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณ เร่งรัดกระบวนการลงนามในสัญญา และลดเวลาในการตรวจรับงานให้เร็วขึ้น ปรับปรุงคำสั่งภายในให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานด้านการเงิน ลดขั้นตอน กระบวนการโอนงบประมาณไปยังส่วนภูมิภาค โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภายใน 3 วัน เพิ่มการเบิกจ่ายค่าแรงเป็น 2 ครั้งต่อเดือน กระจายอำนาจให้หน่วยงานในพื้นที่เบิกจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ ใช้ระบบติดตาม Online ในการจัดทำข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 เป็นไปตามแผนที่ 87%