ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 15,993 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 14,066 ล้านบาท 5,940 ล้านบาท และ 5,490 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.1, 17.1 และ 2.2 ตามลำดับ
ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าเป้าหมาย 12,225 8,308 และ 7,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.7 15.5 และ 35.8 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในเดือน ม.ค.58 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 158,882 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,171 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศสูงกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริโภคในประเทศที่ยังคงเติบโตได้ดี ประกอบกับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของโรงกลั่นแยกก๊าซ และการให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz ขณะที่กรมศุลกากรได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ลดลง
นายกฤษฎา กล่าวว่า การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าเป้าหมาย ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการปรับอัตราภาษีน้ำมันดีเซล และการบริโภคในประเทศที่ยังคงขยายตัวดี ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2558 คาดว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น