กรอ.ถกแนวทางแก้ปัญหาและอุปสรรค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 19, 2015 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ว่า ที่ประชุมหารือถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในหลายประเด็น ซึ่งบางเรื่องได้มีการอนุมัติ และบางเรื่องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกัน รวมถึงติดตามงานที่ภาคเอกชนมีความต้องการให้ภาครัฐสนับสนุน ซึ่งขณะนี้ภาครัฐได้มีการแก้ไขกฎหมายบางส่วน เพื่อลดขั้นตอนในการลงทุนและให้เกิดความรวดเร็ว

ที่ประชุมฯ ยังได้หารือถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่ยังไม่เข้าใจ การประชุมครั้งนี้ถือว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยภาครัฐก็จะเป็นฝ่ายสนับสนุนอำนวยการในการดำเนินการทางด้านธุรกิจ ขณะที่ภาคเอกชนจะเป็นตัวขับเคลื่อน และนำเอกชนมาเป็นส่วนร่วมให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้แลกเปลี่ยนข้อเสนอ โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาการค้าการลงทุน เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้ พร้อมย้ำเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน หลังรัฐบาลได้ออกมาตรการอำนวยความสะดวกด้านสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มเติมจากมาตรการของบีโอไอ รวมถึงการจัดระบบแรงงานแบบเช้าไปเย็นกลับ และการอนุญาตให้แรงงานเวียดนามเข้ามาทำงานได้เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานและสวัสดิการด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ประเมินสถานการณ์เรื่องความมั่นคงที่ภาคเอกชนเสนอให้ยกเลิกจุดผ่อนปรนเป็นด่านถาวร เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน โดยให้พิจารณาเรื่องความมั่นคงเป็นสำคัญ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชน 6 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย รวม 8 เรื่อง ได้แก่ มาตรการขับเคลื่อน SMEs ระยะเร่งด่วน โดยให้กระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานภายใน 1 เดือน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ทั้งระบบ เช่น การปรับโครงสร้างภาษี งดเว้นการเก็บภาษีย้อนหลังธุรกิจ SMEs ที่ประกอบการโดยคนไทย และร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อให้ภาคธุรกิจ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู ซึ่งได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 และเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทำความเย็นที่ไม่ใช้สารทำความเย็นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน

นอกจากนี้ยังให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แก้ไขกฎหมายและออกระเบียบเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเอาผิดกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษสู่ชุมชน

ส่วนแนวทางปฏิรูปการขนส่งระบบรางของประเทศนั้น ภาคเอกชนเสนอให้จัดตั้งกรมรางเพื่อดำเนินการออกกฎระเบียบ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมในการบริหารการเดินรถ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ