ส่วนที่มีการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายค่อนข้างมาก รมว.พลังงาน กล่าวว่า กฎหมายในปัจจุบันมีความทันสมัยและดีพอที่จะนำไปปฎิบัติได้ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ให้ออกเป็นประกาศของกระทรวงในข้อมูลที่เป็นประโยชน์แทนได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารที่ตัดสินใจที่จะนำไปใช้ และต้องมีความโปร่งใส
"การจัดเวทีเสวนาเดินหน้าประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในวันนี้เป็นการให้ข้อมูลกับภาคประชาชนไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้ยังคงเดินหน้าเปิดให้ยื่นซองประมูลขอสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จนถึง 16 มีนาคมนี้ โดยยืนยันว่าหากมีการเปิดสัมปทานครั้งนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนที่จะลดต้นทุนเรื่องของพลังงาน"รมว.พลังงาน กล่าว
ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนอยากให้รัฐบาลลงทุนสำรวจแปลงปิโตรเลียมเองก่อน หรือให้ใช้ระบบจัดจ้างสำรวจ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล
"ยืนยันว่ารัฐทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งก็คือการที่ประชาชนจะได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้า เพราะปัจจุบันค่าไฟฟ้าของไทยแพงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ หากไม่เร่งเปิดสัมปทานอาจเห็นค่าไฟแตะระดับ 6-7 บาทต่อหน่วย"รมว.พลังงาน กล่าว
ด้านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ตอบข้อสงสัยที่เป็นประเด็นกังขาของสังคม โดยข้อเสนอของภาคประชาชนที่แนะนำให้แก้กฎหมาย ในทางปฏิบัติคงต้องพิจารณาว่าเป็นประโยชน์อย่างไร และแก้เพราะมีความบกพร่องในจุดใด ขณะนี้จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจในองค์กรภาครัฐว่าได้ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานอย่างเต็มที่และโปร่งใสแล้ว