ส่วนที่มีการถกเถียงเรื่องข้อกฎหมายค่อนข้างมาก รมว.พลังงาน กล่าวว่า กฎหมายในปัจจุบันมีความทันสมัยและดีพอที่จะนำไปปฎิบัติได้ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่ให้ออกเป็นประกาศของกระทรวงในข้อมูลที่เป็นประโยชน์แทนได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารที่ตัดสินใจที่จะนำไปใช้ และต้องมีความโปร่งใส
"การจัดเวทีเสวนาเดินหน้าประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในวันนี้เป็นการให้ข้อมูลกับภาคประชาชนไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งยืนยันว่าขณะนี้ยังคงเดินหน้าเปิดให้ยื่นซองประมูลขอสำรวจสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จนถึง 16 มีนาคมนี้ โดยยืนยันว่าหากมีการเปิดสัมปทานครั้งนี้จะส่งผลดีต่อประชาชนที่จะลดต้นทุนเรื่องของพลังงาน"รมว.พลังงาน กล่าว
ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนอยากให้รัฐบาลลงทุนสำรวจแปลงปิโตรเลียมเองก่อน หรือให้ใช้ระบบจัดจ้างสำรวจ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล
"ยืนยันว่ารัฐทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งก็คือการที่ประชาชนจะได้ใช้พลังงานในราคาที่ถูกกว่าการนำเข้า เพราะปัจจุบันค่าไฟฟ้าของไทยแพงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ หากไม่เร่งเปิดสัมปทานอาจเห็นค่าไฟแตะระดับ 6-7 บาทต่อหน่วย"รมว.พลังงาน กล่าว
นายอารีพงษ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากเวทีเสวนา "เดินหน้าประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน" ว่า เรื่องของพลังงานสำรองที่ประเทศไทยมีเป็นประเด็นที่สำคัญในการตัดสินใจในการเดินหน้าเปิดสัมปทาน โดยข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ที่ระบุว่าแหล่งพลังงานยังเหลืออีก 7-8 ปี เป็นแหล่งพลังงานที่ได้ข้อมูลจากกฎหมายสัมปทานที่ออกอยู่ทุกวันว่า บริษัทผู้รับสัมปทานทั้ง 50 บริษัทต้องมีการรายงานข้อมูลที่สำรวจว่ามีสำรองอยู่เท่าไร เพราะฉะนั้นกระทรวงพลังงานจึงใช้เป็นฐานในการพิจารณา ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีที่สุด
ทั้งนี้จากการฟังฝ่ายภาคประชาชน ยังมีข้อกังวลเรื่องของข้อมูลที่ยังไม่ตรงกัน แต่หลายข้อมูลที่แก้ไขได้นั้น หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับพ.ร.บ.ปิโตรเลียม เช่น เรื่องของภาษี เชื่อว่าสรรพากรดูแลผลประโยชน์ของภาครัฐ และเรื่องที่ภาคประชาชนมีความเป็นห่วงอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวสามารถแก้ที่ประมวลรัษฎากรได้ ขณะที่ภาคประชาชน แสดงความเป็นห่วงว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีการคัดสรรมีความโปร่งใสหรือไม่ มีอำนาจในการควบคุมหรือไม่ นั้น เมื่อดูในกฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 26 ระบุว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐจะต้องมีเงื่อนไข ควบคุมในการดำเนินการปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐ ซึ่งในพ.ร.บ. ระบุว่าเมื่อมีการค้นพบแล้วต้องตกลงราคา ผลประโยชน์กับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงเมื่อยามฉุกเฉินรัฐมนตรีสามารถที่จะให้หยุดการขนส่งปิโตรเลียมออกนอกประเทศได้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่ภาคประชาชนมีความเป็นห่วงนั้น กฎหมายได้กำหนดเงื่อนไขร้ฐสามารถควบคุมการผลิต ทุกอย่างเพื่อดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ รวมถึงความมั่นคงของประเทศได้
อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังครั้งนี้ คิดว่าภาครัฐได้ชี้แจง และคิดว่าจะมีการพุดคุยกัน ว่าในเชิงนโยบาย จากข้อสังเกตจากภาคประชาชนได้ดำเนินการมามีประเด็นใดที่จะสามารถแก้กฎระเบียบของทางกระทรวงพลังงานให้มีความรัดกุมขึ้นได้ หรือแก้กฎระเบียบในเรื่องของกระทรวงการคลังในเรื่องของภาษีให้มีความรัดกุมได้ แต่ในเรื่องของพลังงานที่กำลังขาดแคลนขึ้นทุกวันนี้นั้น กระทรวงพลังงานได้ติดตามปัญหาในทุกพื้นที่ตลอด เพราะฉะนั้นในเรื่องของพลังงานวิกฤตเราต้องมีการสำรวจเดินหน้าผลิตเพิ่มเติมให้ได้ จะมารอไม่ได้ เพราะมีการขาดแคลนพลังงานเข้ามาในการพิจารณาของกระทรวงพลังงานตลอด ซึ่งเป็นความอ่อนไหวของพลังงานประเทศ โดยในวันนี้เกี่ยวข้องกับการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าพลังงานของประเทศยังมีอย่างมั่นคง
ส่วนจำเป็นต้องออกกฎหมายลูก หรือจะใช้กฎหมายเดิมนั้น นายอารีพงษ์ กล่าวว่า กฎหมายปิโตรเลียมได้วางกำหนดไว้ว่าภาครัฐสามารถบริหารจัดการได้ ให้สิทธิภาคเอกชนสำรวจปิโตรเลียม และผลิตภายใต้เงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งถ้าเราต้องใช้เอกชนต้องขายให้ ถ้าคิดว่าสำรวจแล้วมีแหล่งผลิตสำรองมาก เราก็จะเจรจาผลประโยชน์ก็ต้องให้มากขึ้น และในยามฉุกเฉินรัฐมนตรีมีอำนาจชัดเจนในการหยุดการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมได้ตามข้อกฎหมาย
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังรับฟังความคิดเห็นจากเวทีเสวนา "เดินหน้าประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน" ว่า ทางภาครัฐได้พยายามตอบข้อสงสัยในทุกประเด็นที่ภาคประชาชนมีการตั้งคำถามมา ซึ่งข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฏหมายนั้น ที่ผ่านมามีการแก้ไขมาหลายฉบับ และถ้าหากจะแก้ไขอีกต้องมีการศึกษาและวิเคราะห์ว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิมมีส่วนบกพร่องตรงจุดไหน และต้องแก้ไขในเรื่องใดบ้าง ซึ่งก็ไมได้มีการปิดกั้นให้มีการศึกษา
ทั้งนี้ในฐานะที่ตนเองทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่า การเตรียมการในการออกประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ใช้เวลานาน ซึ่งหากจะมีการเปลี่ยนแปลงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชนที่สนใจที่จะมาเข้าร่วม จึงควรเดินหน้าตามประกาศที่มีอยู่ ส่วนข้อสังเกตุและข้อเสนอแนะต่างๆที่ภาคประชาชนเสนอมา ควรนำไปปรับปรุงแก้ไขในการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมในฉบับหน้าต่อไป
ส่วนเรื่องการทำประชามติ ถือว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและทางรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา