นอกจากนี้ รมว.พาณิชย์ ยังจะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU เพื่อร่วมมือและซื้อขายสินค้าระหว่างกันของเอกชนไทยและอินเดีย 6 ราย เช่น หอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับหอการค้าเมืองสุราต รัฐคุชราต และยังมีกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจอีกด้วย ซึ่งการจัดกิจกรรมต่างๆทางธุรกิจก็เพื่อสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายร้อยละ 4 ตามยุทธศาสตร์การส่งออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 4 ตลาด โดยตลาดอินเดียเป็น 1 ใน 4 ตลาดที่มีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจปานกลาง
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อินเดียกับไทยได้ทำความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดียไปแล้ว ซึ่งความตกลงนี้จะทำให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียเพิ่มสูงขึ้นถึง 13,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่มีโอกาส ได้แก่ ผลไม้, อัญมณีและเครื่องประดับ, อาหารทะเลกระป๋อง, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องรับวิทยุ, โทรทัศน์ และส่วนประกอบรถยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ไทย-อินเดียไม่ได้จำกัดอยู่ในระดับทวิภาคีเท่านั้น แต่มีความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคผ่านความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนและอินเดีย โดยในปี 2552 ได้มีการลงนามในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ส่งผลให้มูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 11,500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2546 เป็น 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2556
นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนและอินเดียได้ลงนามในความตกลงด้านการค้าบริการแล้ว คาดว่าจะมีผลใช้บังคับในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.58 ซึ่งภายใต้ความตกลงนี้ ไทยได้เปิดเสรีการค้าบริการให้อินเดียมากกว่าที่เปิดให้ในปัจจุบัน ในบริการธุรกิจด้านแพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, บริการด้านการแปล, บริการด้านการวิจัยและพัฒนา, บริการด้านการจัดงานประชุม, บริการโรงพยาบาล, บริการด้านการกีฬา และบริการด้านสวนสนุก เป็นต้น
นางดวงกมล กล่าวต่อว่า นอกจากโอกาสในด้านการค้าแล้ว ในด้านการลงทุนนั้น ที่ผ่านมาอินเดียมีการลงทุนในไทยในระดับหนึ่ง โดยมีการลงทุนในโครงการใหญ่ของกลุ่ม Indo Rama (ผลิต Polyester Fiber), Aditya Birla (ผลิตเคมีภัณฑ์), GP (กลุ่มพรีเชียส ชิปปิ้ง), Polyplex (ผลิต PET Resin และ Polyester film), Tata (ผลิตรถกระบะ) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงปี 52-57 มูลค่าการลงทุนของอินเดียในไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมีประมาณ 1,030 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเปรียบเทียบกับศักยภาพของบริษัทอินเดียแล้วยังสามารถเพิ่มการลงทุนในไทยได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคตที่สำคัญ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน, ซอฟต์แวร์, เคมีภัณฑ์, ยา, เครื่องจักรและอุปกรณ์, เทคโนโลยีชีวภาพ และการวิจัยและพัฒนา (R&D) ส่วนการลงทุนของนักลงทุนไทยในอินเดีย ภาคเอกชนไทยสนใจเข้าไปลงทุนในอินเดียในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและการท่องเที่ยว ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารและเกษตรแปรรูป เครื่องประดับและอัญมณี เครื่องใช้ตกแต่งบ้าน เป็นต้น ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจไทยที่จะสามารถเข้าไปร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ต้องการประสบการณ์ทั้งในด้านคุณภาพและความชำนาญจากไทย ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีเอกชนไทยหลายรายเข้าไปขยายธุรกิจในอินเดียมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์เมลามีนในรัฐคุชราต, เฟอร์นิเจอร์ ในเจนไน, โรงงานผลิตเครื่องจักรป้อนให้บริษัทผลิตรถยนต์
ปัจจุบัน อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มเอเชียใต้ โดยไทย-อินเดียได้ร่วมลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,508 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 8,654.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2557 โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 2,575.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เหล็ก, เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ, ยางพารา เป็นต้น