ในขณะเดียวกัน การประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.58 ออกมาติดลบ เนื่องจากค่าขนส่งที่ถูกลง (ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าลดลง) และอุปทานด้านอาหารสดที่มีสูงขึ้นมาก จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงยืนอยู่ในระดับต่ำต่อไปตราบเท่าที่อุปสงค์ในประเทศยังคงไม่กระเตื้อง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น่าจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อพร้อมกับปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.75 ในการประชุมนโยบายครั้งต่อไปเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ภาวะเช่นนี้จะเอื้อต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย เพราะภาคธุรกิจนี้ได้รับอานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำซึ่งช่วยลดภาระสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ปรับไปในทิศทางที่สูงขึ้นตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ซึ่งสะท้อนถึงบรรยากาศการซื้อขายที่คึกคักขึ้น
นอกจากนักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีแล้ว ผู้บริหารธนาคารชั้นนำของไทยที่เราคุยด้วยก็มีมุมมองเศรษฐกิจแบบระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนต.ค.57 พวกเขาคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ในปี 2558 แต่ขณะนี้เชื่อว่าการขยายตัวที่ร้อยละ 3.0-3.5 น่าจะเป็นไปได้มากกว่า ในทำนองเดียวกันตัวเลขการเติบโตสินเชื่อของธนาคารซึ่งก่อนหน้านี้คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7-9 ก็ถูกปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 5-7 และความต้องการสินเชื่อส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน ไม่ได้ใช้เพื่อการลงทุน
เช่นเดียวกับนายธนาคารชั้นนำอีกรายหนึ่งที่ปรับเป้าการเติบโตของสินเชื่อทั้งระบบลงมาเหลือแค่ร้อยละ 6-7 เทียบกับร้อยละ 8 ก่อนหน้านี้ เมื่อถามถึงประเด็นหนี้เสียของการปล่อยสินเชื่อ ผู้บริหารของธนาคาร 2 แห่งที่เราคุยด้วยเชื่อว่าคุณภาพของสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ NPLs ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ถึงแม้ว่าปริมาณ NPLs จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่น่าห่วง
ด้านมิสซิวชิ ไค นักวิเคราะห์ของเอชเอสบีซี คาดว่าผลประกอบการของธนาคารไทยจะออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยเชื่อว่าผลกำไรของธนาคารส่วนใหญ่จะมาจาก 2 ส่วนเท่านั้น นั่นคือ การขยายตัวของสินเชื่อ (ร้อยละ 5) และการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (ร้อยละ 9) โดยจะมีแรงถ่วงจากความกดดันด้านส่วนต่างกำไรของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ต้นทุนดำเนินงานของธนาคารและต้นทุนของเงินทุนที่ระดมมาเพื่อปล่อยกู้ การขยายตัวที่ชะลอลงของผลกำไรของธนาคารเมื่อเทียบกับร้อยละ 12 ของปีก่อน ทำให้ผลประกอบการของภาคธุรกิจนี้และการขยายตัวของ GDP ดูจะไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นเพราะใช้ฐานตัวเลขของปีก่อนมาเปรียบเทียบ
ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนผลกำไรของปีก่อนไม่น่าจะได้เห็นซ้ำอีกในปีนี้ เนื่องจาก 1) ไม่มีการปรับตัวลงอย่างมากของต้นทุนด้านเงินฝาก 2) ต้นทุนของเงินที่ปล่อยกู้ไม่น่าจะเห็นการปรับตัวที่ดีขึ้น เพราะปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งปัจจัยลบที่กล่าวมานี้จะนำไปสู่การขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลงในปีนี้ ดังนั้นจึงไม่ได้เพิ่มน้ำหนักลงทุนแก่กลุ่มธนาคารไทย ภาคการส่งออกก็ไม่ได้เป็นปัจจัยสนับสนุน ประเทศคู่ค้าบางรายได้ลดคำสั่งซื้อสินค้าของไทย (แม้อุปสงค์สินค้าไทยของสหรัฐอเมริกาจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างคึกคักและต่อเนื่อง) แต่ผู้ส่งออกไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากการที่สหภาพยุโรปได้ยกเลิกสิทธิพิเศษทางศุลกากรที่เคยให้กับไทยตั้งแต่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นมา กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่าการตัดสินใจของอียูครั้งนี้จะกระทบสินค้าส่งออกไทยประมาณร้อยละ 4 แต่กระทรวงประเมินว่าผลกระทบทางด้านรายได้ภาษีโดยตรงคงจะต่ำกว่าร้อยละ 0.1 แต่ผลเสียหายด้านส่วนแบ่งตลาดจะมีมากกว่า
"น่าเป็นห่วงว่าทิศทางและแนวโน้มนี้คงจะมีต่อไป ประเทศไทยมีอัตราการขยายตัวของผลผลิตอยู่ในอันดับที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ผู้บริหารของบริษัทท้องถิ่นแห่งหนึ่งมองว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ด้อยคุณภาพเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำธุรกิจ"