ส่วนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังอยู่ระหว่างการทบทวนอัตราค่ายกเว้นใหม่ จากเดิมกำหนดเพดานไว้แล้ว โดยจะปรับให้เหมาะสมและสอดคล้องความเป็นจริงมากที่สุด เบื้องต้นอัตราที่จัดเก็บจริงจะห่างจากอัตราเพดาน 3-4 เท่า จากเดิมห่าง 8-9 เท่า ซึ่งมากเกินไป คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาทบทวนใน 2-3 สัปดาห์ และจะรีบเสนอครม.พิจารณาในเดือนมี.ค.นี้
ขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งหมดจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในดือน ก.ย.58
นายสมหมาย กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจวันพรุ่งนี้จะพิจารณาเรื่องงบเพิ่มเติมที่ใช้ในการปรับปรุงถนนทั่วประเทศ เน้นถนนในเมืองที่มีความสำคัญ ไม่รวมกทม.ในส่วนนี้จะเป็นงบของกรมทางหลวง จำนวน 25,000 ล้านบาท และทางหลวงชนบท 15,000 ล้านบาท รวมเป็น 4 หมื่นล้านบาท
"เบื้องต้นจะไม่ใช้งบประมาณ แต่จะใช้การกู้เงินแทน เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา และมองว่าเป็นการอัดงบฯลงไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่งด้วย"นายสมหมาย กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังเตรียมเสนอมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ากองทุนหมนู่บ้านอีก 40,000 ล้านบาทให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 10 มี.ค.นี้ โดยจะเป็นการกู้เงินจากธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แห่งละ 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ซึ่งครั้งนี้จะไม่ใช่เงินให้เปล่าเหมือนที่ผ่านมา แต่เบื้องต้นจะปล่อยกู้ให้กองทุนฯที่มีผลประกอบการดีเพื่อเป็นการต่อยอด และหามามาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพให้ชาวบ้านมีอาชีพเสริม และมีการออมที่ถูกต้อง
ด้านความคืบหน้าการปิดบัญชีรับจำนำข้าวเพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทั้งขั้นตอน รายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนที่จะนำข้อมูลไปหารือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
"กระทรวงการคลังต้องทำตามหลักการ ดูว่าใครผิดมากน้อยแค่ไหน เรียกความเสียหายตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าความเสียหายอาจจะสูงกว่าผลขาดทุนของโครงการที่จะออกมา" รมว.คลัง กล่าว