"การส่งออกของไทยกลับมาหดตัวตามทิศทางการชะลอตัวในสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังคงเติบโตต่อเนื่อง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหดตัวสูงกดดันให้ราคาส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหดตัวและราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ กระทบมูลค่าส่งออก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเดือน ม.ค.58 อยู่ที่ 47.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ลดลงถึง 53.6% (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งนับเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี(ก.พ.52) เนื่องจากผลผลิตน้ำมันดิบมีมากเกินความต้องการในตลาดโลก ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของไทยเดือน ม.ค.58 ปรับตัวลดลง 14.2% กระทบต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดลง 28.1% ขณะที่ปริมาณส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น 21.8% เช่นเดียวกับสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากอุตสาหกรรมการกลั่นปิโตรเลียมค่อนข้างสูง โดยดัชนีราคาส่งออกเดือน ม.ค.58 เคมีภัณฑ์ลดลง 9.1% และเม็ดพลาสติกลดลง 5.0% ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหดตัว 21.9% และ 14.6% ตามลำดับ ส่วนราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารายังคงทรงตัว จากแรงกดดันของราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้ยังส่งผลถึงความต้องการใช้พลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซลลดลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลลดลงตามไปด้วย
ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญบางตลาดกลับมาหดตัวในเดือน ม.ค.58 ส่วนตลาดสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยตลาดหลักที่กลับมาหดตัว ได้แก่ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป(15) กลับมาหดตัว 7.5% และ 5.0% ตามลำดับ จากการที่เศรษฐกิจทั้งสองฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (QE) ส่งผลให้ค่าเงินเยน และค่าเงินยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดคำสั่งซื้อชะลอตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา มีสัญญาณการฟื้นตัวดีต่อเนื่องขยายตัวที่ 6.0% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามทิศทางการจ้างงานที่ดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทน และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว
นางจันทิรา ยอมรับว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ คือ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร และค่าเงินของทั้งประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ดี แม้การส่งออกในเดือนแรกของปีนี้จะติดลบ 3.46% ก็จะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4% เพราะสถานการณ์เพิ่งจะผ่านไปเพียงเดือนเดียว แต่จะต้องติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งราคาน้ำมันและค่าเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป
"ปัจจัยในตลาดโลกมีส่วน แต่นี่เพิ่งแค่เดือนแรก ต้องดูกันต่อไป เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วทั้งราคาน้ำมันและค่าเงิน ตัวเลขส่งออกเดือนแรกอาจจะดูไม่ค่อยดี แต่ยังเหลืออีก 11 เดือน ต้องพยายามกันต่อไป" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว
พร้อมระบุว่า จากที่ได้หารือกับผู้ส่งออกพบว่าต่างต้องการให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ เพื่อที่จะตั้งราคาขายได้อย่างถูกต้อง และปัจจุบันสินค้าของไทยที่แข่งขันได้ส่วนใหญ่ไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาแล้ว แต่แข่งขันกันในเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า สร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค และตอบโจทย์ได้ตรงตามความต้องการมากกว่า ซึ่งสินค้าที่ขายดีจะไม่ใช่สินค้าที่แข่งกันขายในราคาถูกอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 16 มี.ค.นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ ซึ่งจะมีการทบทวนสถานการณ์การส่งออกสินค้าในรายตลาด และจะมีการปรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น
ขณะที่การนำเข้าในเดือนม.ค.58 ยังคงหดตัวสูง ตามการนำเข้าที่ลดลงของสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง กลุ่มวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มอุปโภค/บริโภค และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง ซึ่งหดตัว -46.9% ,-3.7%,-0.6% และ -12.4% (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยหดตัว -55.8% (YoY) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง (ดัชนีราคานำเข้าน้ำมันดิบเดือนม.ค. 58 ลดลง -48.7% (YoY)) จากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการผลิตของไทย ให้มีต้นทุนการผลิตต่ำลง และลดค่าครองชีพของประชาชน
ในส่วนของการนำเข้าสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง หดตัวจากภาวะการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว และสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หดตัวตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การนำเข้ากลุ่มสินค้าทุนขยายตัวที่ 1.7% โดยมีการนำเข้าสูงขึ้นในสินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และการนำเข้าเครื่องบิน
การค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านช่องทางการค้าชายแดนและผ่านแดนขยายตัวต่อเนื่อง มีสัดส่วนคิดเป็น 8.6% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยมูลค่าการค้าชายแดน (มาเลเซีย เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา) เดือนม.ค.58 มีมูลค่า 85,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% โดยไทยทำการค้าชายแดนกับมาเลเซียสูงที่สุดมีสัดส่วนเป็น 47.7% ของการค้าชายแดนรวม หดตัว -7.8% (YoY) รองลงมา ได้แก่ เมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา ขยายตัว 13.2%, 2.7% และ 26.9% (YoY) ตามลำดับ ซึ่งในภาพรวมไทยได้ดุลการค้าชายแดนรวม 4 ประเทศ เป็นมูลค่า 10,132 ล้านบาท
ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) เดือนม.ค.58 มีมูลค่า 13,534 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% (YoY) โดยภาพรวมการค้าผ่านแดนไทยทำการค้ากับจีนตอนใต้สูงสุด ขยายตัว 77.0% ในเดือนม.ค. 58 รองลงมาได้แก่ เวียดนามมีอัตรายังขยายตัวต่อเนื่องที่ 36.4% ขณะที่การค้าผ่านแดนกับสิงคโปร์ หดตัว -46.8% (YoY)