โดยมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีนี้ เช่น การเชื่อมคลังข้อมูลทางการค้าของไทยกับคลังข้อมูลทางการค้าของอาเซียน, การจัดตั้งระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (Self-Certification) ของอาเซียน, การลงนามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 10, การลงนามและให้สัตยาบันข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน รอบที่ 6, การลงนามความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน, การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมรายสาขาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปของอาเซียน และการสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) หรือ ASEAN+6 FTA โดยไทยคาดว่าจะสามารถดำเนินมาตรการส่วนใหญ่ได้ตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ดี อาจมีบางมาตรการที่ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เนื่องจากการดำเนินกระบวนการภายใน เช่น มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการลงทุนมากขึ้น
ที่ประชุมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา และต้องมีการเตรียมความพร้อมภายในประเทศทั้งในด้านของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและในด้านกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของไทยภายใต้กรอบอาเซียนต้องดำเนินไปอย่างมีทิศทาง จึงเห็นควรให้มีจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแผนทิศทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมอบให้นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เป็นประธานคณะทำงานหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่จะใกล้ชิดและเข้มข้นยิ่งขึ้นของอาเซียนภายหลังปี 2558 ซึ่งอาเซียนจำเป็นที่จะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภูมิภาคให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกได้มากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้อาเซียนกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี 2558 และจะประกาศวิสัยทัศน์ในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 27 ในช่วงปลายปี 2558
นางอภิรดี กล่าวเพิ่มเติมว่า จะนำผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2558 ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการพบหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งแรกของปีนี้ ประเด็นหลักที่จะหารือ คือ การเร่งรัดดำเนินมาตรการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เสร็จได้ทันภายในสิ้นปีนี้แนวทางการลดเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งมีความสำคัญต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
โดยระหว่างการประชุมจะมีการพบหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนด้วย รวมทั้งจะได้มีการหารือวิสัยทัศน์ในการก้าวไปข้างหน้าของอาเซียน ภายหลังปี 2558 และหารือเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกจับตามองคือการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือเรียกว่า "RCEP" หรือ ASEAN+6 FTA (ระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งหากเจรจาได้สำเร็จจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต การค้าและการลงทุน การปรับประสานกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนได้มากกว่าความตกลงที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีเป้าหมายคาดว่าจะสรุปการเจรจาได้ภายในสิ้นปีนี้