โดยในส่วนการบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2558 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอด การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2558 ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.8 ต่อเดือน สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2558 กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายรถจักรยานยนต์ในกรุงเทพฯ เป็นสำคัญ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ระดับ 69.7 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประชาชนยังมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวได้ช้า และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2558 ยังคงชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมกราคม 2558 ที่ร้อยละ -5.8 ต่อปี อย่างไรก็ดีภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งโอนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากการคาดการณ์ของภาคเอกชนถึงการบังคับใช้ภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการรับมรดก สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหักเครื่องบินเรือและรถไฟหดตัวที่ร้อยละ -4.5 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนมกราคม ปี 2558 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ผ่านการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในเดือนมกราคม 2558 จำนวน -57.6 พันล้านบาท มาจากการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) ได้จำนวน 158.9 พันล้านบาท ขณะที่เบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนมกราคม 2558 ได้จำนวน 215.7 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี
สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2558 กลับมาหดตัวอีกครั้ง โดยในเดือนมกราคม 2558 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 ต่อปี โดยการส่งออกที่กลับมาหดตัวมีปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ -13.0 และ -28.1 ต่อปี โดยตลาดส่งออกที่หดตัวลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน-5 ที่หดตัวร้อยละ -19.7 -7.5 -5.0 และ -4.8 ต่อปี ตามลำดับ
ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน ในภาคภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนมกราคม 2558 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 6.0 ต่อเดือน ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก และผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ซึ่งยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของผลผลิตสุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ เป็นสำคัญ
สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2558 จะมีการประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2558 อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2558 หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 5 ปี โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลก เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2558 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.04 แสนคน สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 155.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า