"ภาคเอกชนได้มีการจับคู่ธุรกิจการค้า ซึ่งในครั้งนี้มี 2 คู่ คือ ระหว่างสมาชิก Thaitrade.com และ Tradeindia.com รวม137 คู่ คาดว่าจะมีมูลการซื้อขายราว 22.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มข้าว เทียนฝีมือ กาแฟ ผง ผสม ครีมเทียม บอลลูน กล่องเครื่องประดับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการค้าและสมาคมวิชาชีพเกี่ยวกับธุรกิจก่อสร้างไทย กับผู้นำเข้าอินเดียในสาขาวัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ยางพารา อาหาร เป็นต้น" นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับกิจกรรมทางการตลาดในปี 58 นอกจากจะเข้าพบผู้นำเข้าผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ การจัดงานไทยส่งเสริมการขายแล้ว ยังมีการจัดงานแสดงสินค้าไทยแลนด์วีค รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าไทยในอินเดีย คาดว่าจะทำให้การค้าขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้ไทยได้วางยุทธศาสตร์การขยายการค้าการลงทุนด้วยการ สร้างเสริมและพัฒนาการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจการค้าไทย-อินเดีย, การเจาะกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและระดับสูงจำนวน 350 ล้านคนที่มีกำลังซื้อ โดยเน้นสินค้าไทยระดับคุณภาพปานกลาง-ดี และกลุ่มสินค้าที่มี Brand Awareness สูง, กระจายตลาดทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างจากส่วนกลางออกสู่ภูมิภาคต่างๆของอินเดีย และบุกตลาดเมืองรองที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง เช่น กูวาฮาติ (รัฐอัสสัม)/ จันดิการ์ (รัฐปัญจาบ)/ วิสาขาปัตนัม (รัฐอันตรประเทศ)/อาห์เมดาบัด (รัฐคุชราต)/ ปูเน่ (รัฐมหาราชตะ)/ โคอิมปาตอง (รัฐทมิฬนาดู)
นอกจากนี้จะเร่งสร้างพันธมิตรสามฝ่าย(ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย) พัฒนาการค้าการลงทุนแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เชื่อมโยงกับเมียนมาร์และไทย, การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าจากความตกลง FTAs การพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเครือข่าย(Connectivity) ด้านการคมนาคมและการขนส่งในภูมิภาคอาเซียนบวกหก(จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS)
ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียออกนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งพัฒนาประเทศให้เติบโตในทุกมิติ โดยเฉพาะนโยบายสำคัญ 3 อย่าง คือ Make in India, Smart Cities และ Clean India เน้นดึงดูดการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ เพื่อให้อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก, ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลักดันความร่วมมือในภูมิภาคและสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ตามนโยบาย Look East Policy พร้อมประกาศแนวคิดเชิงรุก Act East ที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก, ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศ ให้สิทธิพิเศษและคุ้มครองผลประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนในเขต Export Oriented Unit: EOU และ Special Economic Zone: SEZ
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากจีน ญี่ปุ่น มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของโลก มี GDP 60% มาจากภาคบริการ สาขาที่มีการขยายตัวและดึงดูดการลงทุนมากที่สุด คือ สารสนเทศและโทรคมนาคม การเงินและการธนาคาร การศึกษาวิจัย และการก่อสร้าง