กสิกรฯ เผยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ม.ค.58 ชะลอ คาดสภาพคล่อง Q1 ผ่อนคลาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2015 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินรับฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน ม.ค.58(ข้อมูลเบื้องต้น) เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และสิ้นปี 57 พบว่าจำนวนเงินให้สินเชื่อในเดือน ม.ค.58 ลดลง 9.71 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ส่วนเงินรับฝากเมื่อรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินให้กู้ยืมลดลง 3.79 หมื่นล้านบาท

สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือน ม.ค.58 ผ่อนคลายลง อันเป็นผลจากจำนวนสินเชื่อที่ลดลงมากกว่าเงินฝากรวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม(ขจัดผลการควบรวมแล้ว) ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมที่ลดลงมาสู่ระดับร้อยละ 84.88 ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน เทียบกับระดับร้อยละ 88.68 ณ สิ้นเดือน ธ.ค.57

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์เผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นในการประคองการเติบโตของสินเชื่อ หลังจากเดือนมกราคมที่ผ่านมาทิศทางการให้สินเชื่อออกมาแย่กว่าที่คาดไว้ แม้ส่วนหนึ่งจะสามารถอธิบายได้ด้วยผลจากปัจจัยด้านฤดูกาลชำระคืนสินเชื่อก็ตาม ขณะเดียวกันด้วยภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ผนวกกับแนวโน้มการชะลอการเบิกใช้สินเชื่อใหม่ของทั้งลูกค้าผู้ประกอบการและลูกค้ารายย่อย เพื่อรอจังหวะเม็ดเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเพื่อติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว ก็ยังอาจมีผลกดดันต่อการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลายเดือนข้างหน้าต่อจากนี้

ส่วนแนวโน้มการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ตลอดช่วงไตรมาส 1/2558 คาดว่าคงเทน้ำหนักไปที่การออกแคมเปญให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่มเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้กับธนาคาร โดยเฉพาะเมื่อเงินฝากประจำเดิมครบกำหนด ขณะที่การแข่งขันด้านราคาเงินฝากยังคงปรากฏในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดเงินฝาก ก่อนต่อยอดไปสู่การขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ

"ท้ายที่สุดแล้วคงทำให้ภาพรวมสภาพคล่องในช่วงปิดไตรมาส 1/2558 มีทิศทางที่ค่อนข้างผ่อนคลายไม่หนีไปจากระดับที่เห็นในเดือนมกราคม 2558 มากนัก" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามเพราะอาจจะมีผลต่อทิศทางการเติบโตของสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป คงประกอบด้วย 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประการที่ 1 ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งเกี่ยวพันกับหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อันมีผลต่อความก้าวหน้าของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์

ส่วนประการที่ 2 คือ ท่าทีเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นโยบายการเงินของธนาคารกลางในต่างประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจกระทบต่อตลาดการเงินไทย ซึ่งในที่สุดแล้วอาจมีผลต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินไทย การวางแผนระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนสภาพคล่องของระบบการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป แม้ว่าสภาพคล่องในขณะนี้จะยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการใช้สภาพคล่องของทุกภาคส่วน และสามารถรับมือกับความผันผวนของตลาดการเงินได้อย่างไม่ต้องกังวล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ