โดยเฉพาะงานที่หน่วยงานในระดับพื้นที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและเห็นผลชัดเจนใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การลดต้นทุนการผลิต 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะสินค้าข้าว 3. การเพิ่มรายได้เกษตรกรและการจัดการผลผลิตของเกษตรกร ในด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่สินค้าเกษตร และ 4. การจัดการในเรื่ององค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตของเกษตรกร ซึ่งทั้ง 4 งานหลักข้างต้นเป็นงานตามแผนงานโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมายังขาดการวิเคราะห์ วางแผน เชื่อมโยงกับงบประมาณท้องถิ่น และการประเมินผลการดำเนินงานให้เห็นเป็นรูปธรรม
"เกษตรและสหกรณ์จังหวัดต้องเร่งวางกลยุทธ์การทำงานให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตามโรดแมพของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งได้กำหนดแผนงานไว้ 4 แผนงาน คือ แผนปรับโครงสร้างและพัฒนาการผลิต แผนเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ แผนเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำ ดิน และที่ดิน และแผนแก้ไขปัญหาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกันทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่" นายปีติพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ โรดแมพในด้านการผลิตสินค้า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากต้องรอข้อมูลการผลิตปี 58/59 ซึ่งในเดือนเม.ย.จะเรียกประชุมเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอีกครั้ง เพื่อหารือแผนบริหารจัดการผลผลิตการเกษตรปี 58/59 โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าว, มัน, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ข้าวโพด ซึ่งสามารถแบ่งสัดส่วนการบริโภคทั้งในกลุ่มอาหาร อาหารสัตว์ และกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเกษตรกร, กลุ่มเกษตรกร, วิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมกันวางแผนในการสร้างสมดุลระหว่างการผลิตและความต้องการในตลาด
โดยเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจะต้องเป็นกลไกสำคัญในการวิเคราะห์ วางแผนยุทธศาสตร์การดำเนินการระดับพื้นที่ รวมถึงเชื่อมโยงงบประมาณของท้องถิ่นที่ขณะนี้หันมาสนใจภาคการเกษตรมากขึ้น ทั้งนี้ จะดำเนินการภายใต้คณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ