ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ม.ค.58 อยู่ที่ 60.87 ลดลงจาก 62.13 ในเดือนม.ค.57
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 19 เดือนที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะฟื้นตัวแต่ก็ยังมีบางอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง อาทิ Hard Disk Drive ที่ปริมาณการผลิตลดลงแต่สินค้าที่ผลิตมีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น รวมทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ที่ลดลงเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่บางรายลดปริมาณการผลิตลงเพื่อเตรียมย้ายโรงงานไปประเทศอื่น
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ เดือนม.ค.58 มียอดการผลิตรถยนต์จำนวน 166,400 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 59,721 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.83 และยอดการส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 92,440 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 14.09ปี 58 คาดว่าการผลิตอระมาณ 2,130,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.30 แบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 930,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.49 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 1,200,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.37 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในภาพรวมของเดือนม.ค.58 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อย 5.26 สินค้าที่ปรับตัวลดลงได้แก่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.61 แต่เซมิคอนดักเตอร์ Monolithic IC และชิ้นส่วน IC อื่นๆ การผลิตยังขยายตัวดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.56, 13.76 และ 12.38 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มปี 58 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5-1 ตามความต้องการของตลาดกลุ่มอุปกรณ์สื่อสาร
ส่วนในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.03 โดยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง แต่ปี 58 คาดว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-2 เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งด้านการลงทุน การเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้การส่งออกจะปรังตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปยังมีความเปราะบางค่อนข้างสูง
ด้านอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การบริโภคเหล็กของไทยในเดือนม.ค.58 มีปริมาณ 1.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนการผลิตมีปริมาณ 0.61 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.93 โดยการบริโภคเหล็กทรงยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนก่อสร้างโครงการของเอกชน ได้แก่ โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัว ส่วนการลงทุนก่อสร้างโครงการของภาครัฐที่จะกระตุ้นให้การผลิตเหล็กทรงยาวสูงขึ้นก็ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะเกิดประมาณปลายปี 2558 สำหรับเหล็กทรงแบน การบริโภคปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1 ในส่วนของการส่งออกเหล็กของไทยลดลงร้อยละ 17.34 และการนำเข้าเหล็กก็ลดลงร้อยละ 15.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง
ส่วนปี 58 คาดว่าสถานการณ์เหล็กในส่วนของการผลิตจะทรงตัว ปัจจัยขับเคลื่อนคือการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ
ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเดือนม.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานการผลิตที่ต่ำของเดือนเดียวกันปีที่ผ่านมาเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ โดยคาดว่ากลุ่มเส้นใยสิ่งทอ จะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.95 จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียน โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนกลุ่มผ้าผืนและกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.45 และ 8.39 ตามลำดับ ตามความต้องการใช้ในประเทศ
ส่วนภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ในเดือนม.ค.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.4 เนื่องจากมีการผลิตผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกในภาพรวม ลดลงร้อยละ 6.8 แต่ยังมีแนวโน้มดีขึ้นจากการเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้า เช่น สหรัฐอเมริกา ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่วนปี 58 คาดว่าการผลิตในภาพรวมจะขยายตัวประมาณร้อยละ 0-5.0 จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและการส่งออกจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ -2 ถึง 2.5 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักทยอยฟื้นตัวขึ้น