ส่วนแรกจะเป็นโครงการเร่งด่วน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 903 กิโลเมตร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีนี้ ได้แก่ เส้นทางที่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว มีการอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อเวนคืนที่ดินแล้ว 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางช่วงฉะเชิงเทรา-คลอง19-แก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร, เส้นทางช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร, เส้นทางช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร
เส้นทางที่อยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีอีก 3เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 48 กิโลเมตร, เส้นทางช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร, เส้นทางช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร ซึ่งต้องก็ขอความร่วมมือจากประชาชนที่อยู่ในเส้นทางดังกล่าวด้วย
ในส่วนที่ 2 จะเป็นโครงการระยะต่อไป ซึ่งจะดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดในปีนี้ จำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และเด่นชัย-เชียงใหม่
สำหรับทางขนาด 1.435 เมตรนั้น จะเป็นการพัฒนาโครงข่ายรถไฟที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยรัฐบาลไทยจะร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่สนใจ อันได้แก่ เช่น จีน ญี่ปุ่น หรืออื่นๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดในเรื่องของรูปแบบการลงทุน และการจัดหาแหล่งเงินทุนของแต่ละโครงการ รวมความไปถึงเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ
ในส่วนของเส้นทางรถไฟที่จะร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนนั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการหารือคณะทำงานร่วมไทย-จีนไปแล้ว เพื่อเตรียมการออกแบบ เวนคืนที่ดิน เตรียมความพร้อมบุคลากร เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการถ่ายทอดกันต่อไป โดยจะมีการแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กิโลเมตร, แก่งคอย-มาบตาพุด 246.5 กิโลเมตรฐ แก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กิโลเมตร และนครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงที่ 1 และ 2 ภายในเดือนตุลาคม 2558 และก่อสร้างช่วงที่ 3 และ 4 ภายในเดือนธันวาคม 2558 โดยมีแผนจะให้แล้วเสร็จและเริ่มเดินรถได้ภายในปี 2561
สำหรับเส้นทางร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น กำลังอยู่ระหว่างร่วมกันทำการศึกษาในข้อตกลงใน 3 เส้นทางด้วยกัน โดย 2 เส้นทางแรก จะเป็นเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงฝั่งตะวันออกและตะวันตกของไทย หรือ East-West Corridor ได้แก่ เส้นทางจาก กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ส่วนเส้นทางที่ 2 คือ เส้นทางจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก-มุกดาหาร และ อีกหนึ่งเส้นทางจะเชื่อมไปยังภาคเหนือ คือเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมดำเนินการตั้งคณะทำงานเจรจาประสานงานร่วมกันกับญี่ปุ่นในการศึกษาแนวทาง ความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์และแนวทางการลงทุนร่วมกัน
"แนวคิดเส้นทางความเร็วสูงนั้น ก็มีข้อเสนอของเอกชนไทยที่อยากจะให้ประเทศมีความทันสมัย และเพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนเมือง การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่เป็นธรรม ตลอดเส้นทางการเดินรถ ผมก็ได้ให้พิจารณาหาข้อมูล หาข้อสรุปให้ได้ว่าจะดำเนินการกันได้อย่างไร ทั้งเส้นทางระยะสั้น และเส้นทางที่มีประชาชนเดินทางคมนาคมจำนวนมาก เช่น กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง-อู่ตะเภา หรือ กรุงเทพฯ-หัวหิน ซึ่งก็อาจจะต้องพิจารณาความคุ้มค่าในการดำเนินการ โดยแนวทางนั้นอาจเป็นในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน ที่เรียกว่า PPP หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infra-Fund) โดยรัฐจะเร่งพิจารณาให้เห็นผลชัดเจนในปีนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว