ปธ.บอร์ด ธอส.ร่อนหนังสือถึง"หม่อมอุ๋ย"แจงผลงานตกต่ำ คุณสมบัติกก.บางคนขัดเกณฑ์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2015 13:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)รายงานว่า นายเกริก วณิกกุล ประธานกรรมการ ธอส.ทำหนังสือส่งถึง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยสาระสำคัญมีการรายงานสถานการณ์สถานะทางการเงินของ ธอส.ว่ายังดีพอควร โดยมีกำไรสุทธิปีละ 7 พันล้านบาท แต่ส่วนแบ่งการตลาดรอบ 10 กว่าปีลดลงจาก 50% เหลือ 30%

นอกจากนั้น ต้นทุนในการระดมทุน (Cost of fund)แพงมาก สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ใหญ่คู่แข่งประมาณ 1% โดย ธอส.อยู่ที่ 3%, ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 6% ขณะที่ NPL สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2%, ความสามารถในการแข่งขันไม่ค่อยดี เมื่อต้นทุนในการระดมทุนสูงและค่าบริหารจัดการต่ำชดเชยไม่ได้ทั้งหมด สินเชื่อที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ราว 0.25-0.50%

ในหนังสือยังระบุว่า โครงการส่วนใหญ่ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จะจัดลูกค้าชั้นดีให้กับธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย(KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และธนาคารกรุงเทพ(BBL) ส่วนลูกค้าที่กู้ไม่ค่อยจึงจะส่งให้ ธอส.ดังนั้น คุณภาพสินเชื่อจึงมีความเปราะบางกว่าของธนาคารพาณิชย์ ไม่แปลกใจที่ NPL อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ธอส.มี NPL 4.78 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีมีสำรอง 4.1 หมื่นล้านบาทและมีสำรองส่วนเกินอยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ธอส.มีปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากกรรมการผู้จัดการ ธอส.ไม่พยายามคุมค่าบริหารจัดการปี 57 โดยมีการขยายสาขาไปแล้ว 20 สาขา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ขณะนี้มีสาขาอยู่ 195 แห่ง โดยนายเกริกระบุว่ามองไม่เห็นว่าการขยายสาขาแล้วจะทำให้ต้นทุนในการระดมทุนลดลงได้อย่างไร เมื่อไม่ใช่ Universal Banking และยิ่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่แต่ละแห่งมีกว่า 1 พันสาขา

สำหรับการขยายองค์กรได้มีการขยายตำแหน่งสูงคราวละ 27%, 33% และ 50% ไปจนถึง 500% ตัวภาคคุมสาขาขยายจาก 12 คนเป็น 21 คน ซึ่งไม่แน่ใจว่าเดินมาถูกทางหรือไม่ ส่วนกระบวนการทำงานมีความล่าช้ามาก ขณะที่การสรรหาบุคคลเข้ารับตำแหน่งก็มีปัญหามากเช่นกัน

รวมทั้งยังมีเรื่องที่ติดขัดกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) อย่างน้อย 3-4 เรื่อง ได้แก่ การจัดองค์กรใหม่ที่ทำในปี 56 ซึ่งทาง สคร.มีการท้วงติงเรื่องนี้, การขอปรับโครงสร้างเงินเดือนยังไม่แล้วเสร็จ, การขอค่าพาหนะให้พนักงานติดขัด และเรื่องสิทธิประโยชน์ของกรรมการก็เป็นแห่งเดียวที่ตกลงไม่ได้กับ สคร. โดยในหนังสือระบุว่าปัญหาดังกล่าวจะติดอยู่ที่กรรมการผู้จัดการไม่ตัดสินใจไปแล้ว

"ได้เคยบอกนายขรรค์ ประจวบเหมาะ ว่าถ้ามีโอกาสเข้ามาจะขอให้ดูเรื่องใหญ่ๆ ส่วนเรื่องเล็กๆ หรือกลางๆ จะขอให้รองกรรมการผู้จัดการทำ ส่วนกรรมการผู้จัดการก็ไปดูแลเรื่อง CSR ได้เต็มที่ เพราะเป็นว่าถ้าปล่อยให้กรรมการผู้จัดการดำเนินการเองต่อไปก็จะสร้างปัญหาเรื้อรังระยะยาว แต่ก็ขออภัยที่กรรมการไม่เห็นด้วย และมีมติไปในวันที่ 22 ต.ค.57 ในการประชุมคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ 11/2557 ไม่ผ่านวาระให้นายขรรค์เข้ามาช่วย ด้วยเสียง 6 ต่อ 3 เสียง"นายเกริก ระบุในหนังสือ

อย่างไรก็ดี ในส่วนการตรวจสอบข้อร้องเรียนกรรมการผู้จัดการ ที่เมื่อวันที่ 22 ต.ค.57 นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ในฐานะประธานบริหาร ผู้แทนกระทรวงการคลังได้รับหนังสือจาก สคร.ให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการที่มีหนังสือร้องเรียนกรรมการผู้จัดการ เนื่องจากอยู่ในรูปบัตรสนเท่ห์ โดยการตรวจสอบครั้งนี้ฝ่ายบริหารจัดการปกปิดข้อเท็จจริงได้สำเร็จ องค์กรก็จะต้องโตขึ้น กระบวนการผิดๆ ก็จะเดินไป พนักงานที่ไม่เหมาะสมก็จะได้รับตำแหน่งสูง ทั้งที่ กรรมการ 6 คนมีมติขัดกับนโยบายของรัฐบาล ปริ่มๆ ผิดกฎหมาย มาตรา 18 และบางคนก็เป็นกรรมการบริษัทประกันภัย ประกันชีวิตที่ทำธุรกิจร่วมกับ ธอส.ไม่ถูกต้องตามเกณฑ์จริยธรรมของ สคร.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ