ล่าสุด มีจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอแล้ว 51 จังหวัด ยังคงเหลืออีก 26 จังหวัด ซึ่งปีนี้ กรมฯ มีแผนผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอให้ได้อย่างน้อยอีก 9 จังหวัด ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และสับปะรดสวนผึ้งราชบุรี จ.ราชบุรี, แห้วสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี นิลเมืองกาญจน์ จ.กาญจนบุรี กะปิเกาะช้าง งอบน้ำเชี่ยว สับปะรดตราดสีทอง จ.ตราด, ผ้าม่อฮ่อมแพร่ ผ้าจกเมืองลอง ข้าวคำหอม จ.แพร่, ข้าวไร่ลืมผัว กาแฟดอยมูเซอ จ.ตาก, กล้วยตากสังคม สับปะรดศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย, จำปาดะ จ.สตูล, หอยชักตีนกระบี่ กะปิแหลมสัก กะปิเกาะลันตา จ.กระบี่
"กรมฯ จะเข้าไปช่วยเหลือให้ผู้ผลิตในจังหวัด ให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ โดยเข้าไปช่วยตั้งแต่การยื่นคำขอ การผลิต การควบคุมคุณภาพสินค้า การพัฒนาสินค้า เพื่อต่อยอดให้สินค้ามีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล เพราะสินค้าจีไอ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้จริง ราคาเพิ่มขึ้นได้เป็น 100% หรือหลาย 100% จากการที่สินค้ามีจำกัด และเป็นสินค้าดีเด่นของแต่ละจังหวัด"นางมาลีกล่าว
นางมาลี กล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าจีไอของไทย โดยจะจัดงานจีไอ มาร์เก็ต 2558 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-1 เม.ย.58 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าจีไอให้เข้าถึงผู้บริโภคผ่านห้างสรรพสินค้า โดยมีสินค้าจีไอมาเข้าร่วมงานจำนวน 60 ราย ซึ่งผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงสินค้าจีไอที่เป็นของแท้ ของดี ของหายาก จากแหล่งผลิตส่งตรงถึงผู้บริโภค และจะทำให้สินค้าจีไอเป็นที่รู้จักและต้องการมากขึ้น ขณะเดียวกัน กรมฯยังมีแผนที่จะเจรจากับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) และห้างสรรพสินค้า ให้นำสินค้าจีไอไปจำหน่ายภายในห้างฯ โดยจะขอความร่วมมือจัดทำเป็นมุมขายสินค้าจีไอถาวร จากปัจจุบัน ที่มีบางสินค้าวางขายในชั้นจำหน่ายบางแล้ว เช่น ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้จ.สระบุรี
"ปีที่แล้ว กรมฯ ได้จัดงานโอทอป พลัส จีไอ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยตลอดการจัดงาน 7 วัน จำนวน 100 คูหา สามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการได้ถึง 7.8 ล้านบาท โดยสินค้าที่ขายดี 3 อันดับแรก ได้แก่ หมูย่างเมืองตรัง ผ้าไหมยกดอกลำพูน และผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ซึ่งการจัดงานปีนี้ คาดว่า จะมียอดจำหน่ายไม่แพ้กัน"นางมาลีกล่าว