คนร.ให้ตั้ง"บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ"กำกับดูแล รสก.ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2015 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(ซุปเปอร์บอร์ด) หรือ คนร. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีหน่วยงานทำหน้าที่คล้ายกับเจ้าของรัฐวิสาหกิจในลักษณะรวมศูนย์ หรือ โฮลล์ดิ้ง แบ่งเป็น 2 หน่วยงาน คือ 1.บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์กรเข้าของสำหรับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทมหาชน และบริษัทจำกัด เช่น บมจ.ปตท.(PTT)/ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT)/บมจ.อสมท.(MCOT) เป็นต้น และ 2.ให้ สคร.ทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ เช่น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)/ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น

หลังจากนี้จะมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบไปยกร่างกฎหมาย ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในภาพรวมที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์รัฐวิสาหกิจ การสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอน คณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ จัดทำระบบธรรมาภิบาล และติดตามประเมินผล คณะกรรมการและองค์กรการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูล

และส่วนที่ 2 จะเป็นการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติที่เป็นแนวทางการสรรหาคระกรรมการบรรษัท และกรรมการผู้จัดการบรรษัท รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ และแนวทางการทำงานของบรรษัท โดยคาดว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ในเดือนมิถุนายนนี้

ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า การจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติจะเป็นการลดสัดส่วนข้าราชการลงเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใสเข้ามาทำหน้าที่แต่ละด้าน เชื่อมั่นว่าจะไม่ทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุน แต่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจ และลดค่าใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่จำเป็นลงไป ยืนยันการจัดตั้งบรรษัทนี้ จะเป็นองค์กรภายใต้กระทรวงการคลัง

"บรรษัทนี้จะทำหน้าที่เหมือนผู้ถือหุ้น และไม่ได้ตั้งมาเพื่อขายหุ้น จะมากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้น" นายกุลิศ กล่าว

เบื้องต้น การดำเนินงานนี้คล้ายกับการจัดตั้งกองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ที่เริ่มดำเนินการครั้งแรก จากนั้นจะขยายหน่วยงานดูรัฐวิสาหกิจจนครบทุกแห่ง

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการเดินรถทั้งหมดทั่วประเทศโดยตรง รวมถึง ขสมก.เพื่อเข้ามาดูแลเส้นทางที่ ขสมก.จะสามารถเดินรถร่วมได้ พร้อมทั้งจะดูแลการซื้อรถเมล์ NGV ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยดำเนินการจัดซื้อรถเมล์ NGV ล็อตแรก 489 คันเพื่อวางแผนการจัดซื้อรถครั้งต่อไป

และเห็นชอบให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เจรจายุติข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชน ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากเสาโทรคมนาคม ซึ่งการตีมูลค่าทรัพย์สินต้องเป็นธรรมต่อรัฐและเอกชน ทั้งนี้มอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัท ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเสาโทรคมนาคมต่อไป

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวปฎิบัติและเปิดเผยข้อมูล เสริมสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ เริ่มจากโครงการปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและขยายสนามบินสุวรรณภูมิ โดยคณะอนุกรรมการดังกล่าว จะมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รวมถึงองค์กรภาคเอกชน ซึ่งเป็นความร่วมมือจากรัฐบาลอังกฤษที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมด้วย จะมีการเปิดโครงการนี้ในวันที่ 6 มี.ค.โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว

ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของรัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงานและขนส่ง มุ่งเน้นการสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างอุตสาหกรรม และช่วยสนับสนุนให้เอกชน สามารถเข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในแต่ละสาขาอย่างเท่าเทียม สำหรับภาคอุตสาหกรรมขนส่งนั้น เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการบินของประเทศ สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลระบบรางของประเทศ โดยการจัดตั้งกรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และเตรียมแยกบทบาทภารกิจของกรมการขนส่งทางบก และบริษัทขนส่งจำกัดออกจากกัน เพื่อส่งเสริมกรแข่งขั้นอย่างเป็นธรรม

ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานเห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาการจัดให้มีการรวมศูนย์ด้านพลังงานเพื่อบูรณาการหน่วยงานด้านพลังงานอย่างแท้จริง ทั้งนี้ให้มีการศึกษาการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานด้านสังคม โดยให้อุดหนุนภาคประชาชนโดยตรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ