(เพิ่มเติม) ครม.ให้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแบบต่อเนื่อง ศึกษาใช้รูปแบบลงทุน PPP

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2015 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) โดยให้มีการศึกษาทบทวนโดยนำรูปแบบการลงทุนแบบ PPP Net Cost มาเป็นแนวทางการลงทุนในลำดับแรกก่อนในการเจรจาตรงกับผู้ประกอบการรายเดิม โดยรวมการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – บางซื่อ (สัญญาที่ 5) ไปในคราวเดียวกันตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ให้เจรจาไว้แล้วเพื่อให้ขนาดการลงทุนมีความคุ้มค่า (Economies of Scale) โดยการเจรจาให้อยู่บนพื้นฐานการเจรจาที่คำนึงถึงประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนพร้อมทั้งให้เกิดความเป็นธรรม และประโยชน์ต่อภาครัฐสูงสุด

พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง- บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ดำเนินการตามแนวทางในข้อ 1 ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันกับการเปิดใช้บริการแก่ประชาชนตามแผนงานที่กำหนด

ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา กลับไปสรุปแผนการเดินรถ รูปแบบการลงทุนให้ต่อเนื่อง ภายใต้พ.ร.บ.ร่วมทุนก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเอื้อรายเดิมในการเดินรถหรือไม่ และอาจทำให้การเปิดให้บริการล่าช้าไประยะหนึ่ง

"ให้คมนาคม สภาพัฒน์ และกฤษฎีกา ไปหารือร่วมกันเพื่อพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายร่วมทุนใดระหว่าง แนวทางเดิมคือพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) หรือ แนวทางใหม่ ใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยจะเร่งสรุปภายใน 2 สัปดาห์"

ทั้งนี้ ความแตกต่างของการใช้พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 35 กับพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 คือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 คณะกรรมการมาตรา 13 จะต้องเลือกวิธีการประมูลคัดเลือกเอกชนเป็นลำดับแรกก่อน ในขณะที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เนื่องจากสามารถใช้วิธีเจรจากับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) ผู้รับสัมปทานเดินรถรายเดิมได้ ซึ่งตรงกับแนวทางของกระทรวงคมนาคมที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้บริการมากกว่าเพราะสามารถเดินรถต่อเนื่องได้ ซี่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนและไม่เป็นภาระการลงทุนต่อภาครัฐและเอกชนและ

"หากได้ข้อสรุปอย่างไร ไม่ต้องเสนอครม.แล้ว ให้เดินหน้าต่อทันที เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินโครงการเนื่องจากหากพิจารณาล่าช้าและทำให้การจัดหารถล่าช้าจะเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลงานโครงสร้างและรางที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2560 ระยะเวลาในการลงนามสัญญาและจัดหารถไฟฟ้า 2.5-3 ปี ซึ่งจะทำให้เปิดเดินรถได้ช่วงกลางปี-ปลายปี 2560"พล.อ.ประจิน กล่าว

แนวทางดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในเรื่องการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอย่างไร และจะทำให้การเดินรถของเอกชนที่เข้ามาเกิดความต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่สูง เพราะจะส่งผลไปถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารเพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อน โดยต้องให้ผู้ใช้บริการทุกวัย ทุกระดับ คนพิการ เข้าถึงบริการได้สะดวก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ