ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ภัยแล้งปีนี้หนักสุดรอบ 15 ปี คาดชาวนาอาจสูญรายได้ถึง 1.4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2015 18:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาวะภัยแล้งในปีนี้จะมีระดับความรุนแรงมากกว่าปกติ โดยได้เริ่มส่งสัญญาณสถานการณ์ภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลภัยแล้ง และคาดว่าอาจต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายน 2558 อีกทั้งยังมีทีท่าว่าภัยแล้งอาจขยายวงกว้างมากขึ้นในหลายจังหวัดของไทย อันเป็นประเด็นน่าเป็นห่วงในปีนี้
"ภาวะภัยแล้งในปี 2558 นับว่าหนักสุดในรอบ 15 ปี (วัดจากปริมาณน้ำในเขื่อน) โดยได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และมีทีท่าว่าจะขยายความรุนแรงในวงกว้างมากขึ้น"

ขณะที่มีพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วกว่า 10 จังหวัด คือ นครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ชัยนาท ลพบุรี และสุพรรณบุรี คิดเป็นพื้นที่ทางการเกษตรที่เสียหายราว 1,192,110 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เสียหายราว 1,133,947 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95.1 ของพื้นที่ทางการเกษตรที่เสียหายทั้งหมด โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นพืชเกษตรหลักที่ปลูกในช่วงหน้าแล้ง โดยข้าวนาปรังกว่าร้อยละ 80 จะปลูกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ส่งผลต่อผลผลิตข้าวนาปรังให้ได้รับความเสียหาย

จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่อข้าวนาปรังเป็นหลัก รัฐบาลจึงได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการงดทำนาปรัง ปี 2558 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง และเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าและให้ผลตอบแทนดี อาทิ ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น ส่งผลต่อภาพรวมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในปี 2558 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 10.7 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 29.6 (YoY) และปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังอาจลดลงมาอยู่ที่ 6.7 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 30.9 (YoY)

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังจะลดลงซึ่งสาเหตุหลักมาจากภัยแล้ง แต่หากมองในมุมของราคาข้าวในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าว แต่ก็อาจไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันราคาข้าวได้อย่างมีนัยสำคัญ เพียงแต่อาจช่วยประคองราคาข้าวไว้ได้ในระยะสั้น ท่ามกลางภาวะที่แนวโน้มราคาข้าวไทยยังคงถูกกดดันจากปัจจัยด้านอุปทาน โดยเฉพาะปริมาณสต๊อกข้าวที่ยังอยู่ในระดับสูง (คาดอยู่ที่ราว 17.5 ล้านตัน ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558) โดยราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% เฉลี่ยเดือนพฤศจิกายน 2557-มกราคม 2558 อยู่ที่ 7,878 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 2.2 (YoY) ในระยะถัดไป หากผลของภาวะภัยแล้งสิ้นสุดลง ราคาข้าวไทยยังมีแนวโน้มต้องเผชิญแรงกดดันจากปริมาณสต๊อกข้าวไทยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการแข่งขันด้านราคาจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม ทำให้คาดว่าในปี 2558 ราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% อาจเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบ 7,500-7,700 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 0.2-2.8 (YoY)

จากผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายจากภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย และนับเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่สำคัญ และอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนอาหารหลายประเภทที่มีข้าวเป็นส่วนประกอบนั้น หากพิจารณาดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยรายการข้าว แป้ง และธัญพืชที่มีน้ำหนักในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคร้อยละ 3.44 รายการดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2558 เพียงร้อยละ 0.07 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2557 (ช่วงเริ่มต้นภัยแล้ง) สะท้อนให้เห็นว่า ผลผลิตข้าวที่ลดลงจากภาวะภัยแล้ง ยังไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันราคาข้าวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งท้ายที่สุด ผลดังกล่าว น่าจะยังไม่กระทบต่อระดับดัชนีราคาผู้บริโภค จนส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เกิดภัยแล้ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลจากภัยแล้งในปี 2558 น่าจะไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าในหมวดอาหารปรับเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงมีค่าติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ตลอดช่วงเวลาที่เกิดภัยแล้ง และอาจติดลบต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งแรกของปีนี้ ตามทิศทางการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ แม้จะได้แรงหนุนจากราคาในหมวดอาหารสดที่ขยับขึ้นเล็กน้อย (จากความเสียหายของพืชเกษตรอื่นที่อาจผลักดันราคาให้ปรับขึ้นบ้าง) ตามภาวะการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่มีสัญญาณการทยอยฟื้นตัวขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่พฤศจิกายน 2557-กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คิดเป็นเวลาเพียง 3-4 เดือนแรกของช่วงภัยแล้งเท่านั้น ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโดยเฉพาะข้าวนาปรังกว่า 1,133,947 ไร่ โดยผลจากภัยแล้งดังกล่าวจนถึงขณะนี้ได้สร้างผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังคิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 5,600 ล้านบาท หากผลของภัยแล้งต่อเนื่องและยาวนานไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือนเมษายน 2558 ก็อาจส่งผลต่อรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังให้มีมูลค่าความเสียหายมากขึ้นรวมกว่า 14,000 ล้านบาท

"ผลจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาที่แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลต่อรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งจากการประเมินจนถึงขณะนี้คิดเป็นมูลค่าความเสียหายแล้วราว 5,600 ล้านบาท และชาวนาผู้ปลูกข้าวอาจสูญเสียรวมกว่า 14,000 ล้านบาท เมื่อจบแล้ง (นับเป็นมูลค่าความเสียหายมากที่สุดในค่าเฉลี่ยรอบ 5 ปีที่อยู่ที่ราว 11,900 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญมาจากผลของพื้นที่ทางการเกษตรที่เสียหายในวงกว้าง เนื่องด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหักล้างผลด้านราคาที่ลดลง) ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้มากกว่า 14,000 ล้านบาท โดยสถานการณ์นี้ จะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อภาคครัวเรือนในชนบท และส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซ้ำเติมภาวะยากลำบากอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก โดยเฉพาะหากภัยแล้งกินเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้"

ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ลดลง จะส่งผลต่อเนื่องไปยังอำนาจซื้อสินค้าในธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ลดลงอีกด้วย พิจารณาได้จากปริมาณจำหน่ายสินค้าในธุรกิจเกี่ยวเนื่องในภาคเกษตรหลายรายการปรับตัวลดลงในช่วงที่เกิดภัยแล้ง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ และสินค้าบริโภค เป็นต้น ส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของยอดจำหน่ายที่ลดลงในช่วงภัยแล้งปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงภัยแล้งปีก่อน ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องควรมีการปรับตัว เพื่อรับมือกับผลดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของภัยแล้งปีนี้ โดยสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ควรมีการเร่งขยายช่องทางการตลาด อาทิ การประชาสัมพันธ์ จัดโปรโมชั่นการผ่อนชำระสินค้าด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และอาจขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพิ่มเติมจากฐานลูกค้ากลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สินค้าอย่างรถกระบะเพื่อขนส่งสินค้าเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ก็อาจต้องมีการทำการตลาดเพิ่มขึ้น เช่น ระยะการผ่อนชำระสินค้าที่นานขึ้น เป็นต้น อันจะเป็นการกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการในช่วงจังหวะเวลาที่เกษตรกรต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งที่อาจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ