กสิกรไทยระบุศก.ครัวเรือนชะลอตัว-บริโภคฟื้นช้าอาจกดดัน กนง.ลดดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 6, 2015 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือน “ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น" ในเดือนก.พ. 2558 ทั้งนี้ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน หรือ KR-ECI ปรับตัวลงอีกครั้งมาที่ระดับ 46.3 (จากระดับ 46.4 ในเดือนม.ค. 2558) ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ที่สะท้อนมุมมองในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ก็ปรับลดลงมาที่ระดับ 46.9 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 3 เดือน (จากระดับ 47.7 ในเดือนก่อน) ซึ่งนอกจากจะสะท้อนว่า ภาคครัวเรือนยังคงตัดสินใจใช้จ่ายอย่างระมัดระวังแล้ว ครัวเรือนในหลายๆ ส่วนก็ยังมีมุมมองในเชิงลบมากขึ้นต่อภาวะการครองชีพ เนื่องจากกำลังซื้อและรายได้ของประชาชนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ที่ชัดเจนในระยะใกล้ๆ นี้

ทั้งนี้ ครัวเรือนยังมองสถานการณ์รายได้ในอนาคตอย่างระมัดระวัง สะท้อนจากดัชนีรายได้ของครัวเรือนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ที่ทรงตัวที่ระดับ 48.9 ซึ่งค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน อาจเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์รายได้ในช่วงหลายเดือนหลังจากนี้ (ทั้งในมุมมองต่อการมีงานทำ และมุมมองต่อเงินเดือน/ค่าตอบแทนจากการทำงาน) ซึ่งก็เป็นภาพที่สอดคล้องไปกับกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณอ่อนแอจากหลายด้าน และยังต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะกลับมาขยายตัวในระดับปกติ

นอกจากนี้ ดัชนีสะท้อนมุมมองต่อภาระการชำระหนี้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับลดลงมาที่ 46.7 (ต่ำกว่า 50 สะท้อนมุมมองที่กังวล) ก็น่าจะยังคงบ่งชี้ว่า ภาระหนี้สินสะสมยังคงกดดันการฟื้นตัวของอำนาจซื้อภาคประชาชน และอาจทำให้ครัวเรือนบางส่วน โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีมุมมองที่กังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์ตึงตัวของเงินออม

ภาคครัวเรือนยังกังวลต่อทิศทางราคาสินค้า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนก.พ.58 จะมีค่าติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ที่ร้อยละ 0.52 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ แม้ราคาสินค้าหมวดพลังงานในตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภค จะทรงตัวในระดับต่ำ แต่ราคาสินค้าและบริการพื้นฐานยังคงขยับขึ้นสวนทาง (โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน อาทิ อาหารสำเร็จรูป และค่าโดยสารสาธารณะ) ดังนั้น ความรู้สึกของกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ จึงยังไม่ได้รับอานิสงส์มากนักจากราคาน้ำมันที่ลดลง แต่กลับจะอ่อนไหวมากขึ้นต่อข่าวการจ่อขยับขึ้นของราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งสถานการณ์นี้ได้สะท้อนผ่านมาที่ดัชนีที่สะท้อนมุมมองคาดการณ์ต่อสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 39.4 ในเดือนก.พ. 2558 จากระดับ 42.1 ในเดือนก่อน

สำหรับแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงมองว่า บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนน่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่แย่ที่สุดมาแล้ว แต่ก็คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยที่จะมากระตุ้นการใช้จ่ายให้ฟื้นตัวขึ้นก็ยังคงไม่มีความชัดเจนเช่นกัน ดังนั้น แม้จะประเมินว่าแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภคในปีนี้น่าจะอยู่ในกรอบที่สูงขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็มีโอกาสน้อยลงที่การบริโภคจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อนึ่ง สัญญาณที่สะท้อนว่าอำนาจซื้อของภาคครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นในเดือนก.พ. 2558 นับเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ภายหลังจากที่เครื่องชี้การบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ มีภาพที่อ่อนแอลงในเดือนม.ค. 2558 ที่ผ่านมา และเป็นที่คาดหมายว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่มีความล่าช้าๆ นี้ น่าจะเป็นหนึ่งในประเด็นเศรษฐกิจที่ กนง. จะพิจารณาในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 11 มี.ค.58 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ