เงินบาทเปิด 32.56/58 อ่อนค่า ลุ้นกนง.พุธนี้-กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2015 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 32.56/58 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 32.42/43 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าในช่วงนี้ เป็นผลจากจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าจากเมื่อวันศุกร์ หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในส่วนของการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนก.พ.เพิ่มขึ้น 2.95 แสนราย ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวที่สูงเกินคาด จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. ขณะที่ปัจจัยในประเทศต้องติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันพุธนี้ว่าจะตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

"ตอนนี้ moment ของดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า ซึ่งน่าจะเป็นการแข็งค่าจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเมื่อวันศุกร์" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.60 บาท/ดอลลาร์

*ปัจจัยสำคัญ

  • เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 120.77 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 120.05 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรเช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.0840 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0970 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.4160 บาท/ดอลลาร์
  • นักเศรษฐศาสตร์ประเมิน กนง. คงดอกเบี้ยในการประชุมรอบนี้ เพื่อรอความชัดเจนทางเศรษฐกิจ ก่อนทบทวนใหม่ในการประชุมครั้งหน้า แจงผลสำรวจ "ดอกเบี้ย" เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจน้อยกว่า "ความเชื่อมั่น" และ มีผลต่อทุนเคลื่อนย้ายน้อย ชี้อัตราดอกเบี้ยไทยต่ำอันดับสองในภูมิภาค ระบุช่วง 2 ปี บาทอ่อน 14% แต่ภาคส่งออกยังติดลบ สะท้อนค่าเงินมีผลน้อย
  • นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่งมาก เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศอื่นที่อ่อนค่าลง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดโอกาสน้อยที่การบริโภคจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งแรกของปี 58 และปัจจัยที่จะมากระตุ้นการใช้จ่ายให้ฟื้นตัวขึ้นก็ยังคงไม่มีความชัดเจน จึงมองการฟื้นตัวการบริโภคล่าช้าเป็นประเด็นสำคัญเข้าที่ประชุมบอร์ด กนง.วันที่ 11 มี.ค.นี้ ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี คาด กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% เหตุไม่ช่วยแก้ปัญหาเงินไหลเข้า เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเงินฝืด และต้องระวังเพิ่มความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนสูงอยู่แล้ว
  • ส.อ.ท.เผยผู้ประกอบการ SMEs เริ่มมีสัญญาณเป็น NPL เพิ่มขึ้น เหตุส่งออก แรงซื้อในประเทศวูบ ลุ้นแก้ไทยพ้นเทียร์ 3 หวังเพิ่มส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ หลังตลาดหลักอื่นซึม สมาคมฯ SMEs ตอกย้ำยอดขายดิ่ง 20-30% แนะหากไม่ฟื้นแรงซื้อออกมาตรการ มาคงช่วยแค่ระดับหนึ่งเท่านั้นชี้ช่อง ให้กระตุ้นท่องเที่ยว
  • นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยสาระสำคัญยังคงเป็นไปตามที่กรมสรรพสามิตเสนอมา คือ รวมกฎหมายต่างๆ ของกรมสรรพสามิต 7 ฉบับ ให้เป็นฉบับเดียว ปรับปรุงกระบวนการเก็บให้มีประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีจากฐานราคาหน้าโรงงาน หรือราคาสำแดงนำเข้า (ซีไอเอฟ) มาเป็นราคาขายปลีก
  • ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อวันศุกร์ (6 มี.ค.) เนื่องจากตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนก.พ. เพิ่มขึ้นเกินคาด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่สนับสนุนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 295,000 รายในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 239,000 รายในเดือนม.ค. นักลงทุนกังวลว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐที่สูงขึ้นเกินคาด อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.

ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปีครึ่ง จากระดับ 5.7% ในเดือนม.ค.

  • รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2557 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 4 ขยายตัว 1.5% ลดลงจากที่ได้ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่าขยายตัว 2.2%
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (6 มี.ค.) เนื่องจากสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานล้นตลาด โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.15 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.61 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 75 เซนต์ ปิดที่ 59.73 ดอลลาร์/บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ