ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง.รอบนี้ยังคงดอกเบี้ย 2% สงวนไว้ใช้เมื่อจำเป็น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2015 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) รอบที่ 2 ของปี 58 ในวันพุธที่ 11 มี.ค.58 นี้ น่าจะยังมีมติคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% ต่อเนื่อง โดยมีเหตุผลและเงื่อนไขแวดล้อมในการตัดสินใจเชิงนโยบายในครั้งนี้ที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะใน 3 มิติหลักด้วยกัน

โดยมิติแรก: เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างล่าช้ากว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/57 รวมถึงเดือนม.ค.58 ที่บ่งชี้สภาวะการบริโภคและลงทุนของภาคเอกชนในประเทศที่อ่อนแอ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่อยู่ในระดับต่ำ จนส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องและกระทบอำนาจในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนภาคการส่งออกในเดือนม.ค.58 พลิกกลับมาหดตัว ทำให้ในไตรมาส 1/58 ยังมีโอกาสเห็นภาพการหดตัวของการส่งออกอยู่เช่นกัน ท่ามกลางปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างเช่นจีน และปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนตัวลง

นอกจากนี้ กลไกการเบิกจ่ายของภาครัฐ ที่เป็นความหวังสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจนั้น ก็ยังปรากฏภาพการเบิกใช้งบลงทุนที่ล่าช้ากว่าคาดมาก (15% สำหรับ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 เทียบกับเป้าหมายสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณที่ 30%) จึงทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขาดกำลังส่งสำคัญ จนทำให้ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นในการใช้จ่ายเท่าใดนัก แม้ราคาพลังงานในประเทศจะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง จนมีส่วนส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ถึง 8 เดือนติดต่อกันแล้วก็ตาม

มิติที่สอง: คำถามเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ส่งออกกลับมาอ่อนกำลังลง สวนทางกับค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าเงินหลายสกุลในภูมิภาค (ดังจะเห็นได้จากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทแท้จริง (REER) ที่แข็งขึ้นต่อเนื่อง YoY ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/57 ขณะที่ การส่งออกไทยในปี 57 และเดือนม.ค.58 เติบโตช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค) ซึ่งท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังต้องการแรงส่งเพิ่มเติม จึงทำให้มีเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนมากขึ้นเพื่อขอตัวช่วยจากการขยับอ่อนลงของค่าเงินบาท ผ่านการผ่อนปรนด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มิติที่สาม: การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายประเทศที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยนับจากการประชุม กนง.ครั้งก่อนหน้าในวันที่ 29 ม.ค.58 นั้น ธนาคารกลางของประเทศอินโดนีเซีย และธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งธนาคารกลางยุโรป(ECB) ได้เริ่มทำการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอันเป็นส่วนสำคัญของมาตรการ QE มูลค่า 60 ล้านยูโร/เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.58 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เริ่มมีการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปีนี้

"การเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติหลักดังกล่าว ทำให้การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง อาจเป็นทางเลือกที่มีน้ำหนักมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า คงต้องยอมรับว่าหลายประเด็นปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับกลไกอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงลำพัง" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ทั้งนี้ ปัญหาด้านการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าออกนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ได้ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากนัก ตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติยังมองไทยว่ามีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่สูงกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าออกหลายรายการ มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะด้านแรงงาน ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า หรือการปรับตัวของประเทศผู้นำเข้าหลักที่หันมาเพิ่ม/โยกย้ายทรัพยากรรองรับการผลิตสินค้าเป้าหมาย ทำให้มีโอกาสพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากต่างชาติ รวมถึงไทยลดลง เช่น การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกยางในจีน และการกระจายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของนักลงทุนต่างชาติไปสู่ชาติอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ธปท.ยังมีโจทย์เชิงเสถียรภาพอื่นๆ ที่ต้องดูแลเช่นกัน โดยเฉพาะการควบคุมการก่อหนี้ภาคครัวเรือน การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ ตลอดจนการสร้างแรงจูงใจในการออมระดับบุคคล เพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มที่อาศัยผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยจากตลาดการเงินและประคองการออมในระดับมวลรวมของประเทศ สำหรับรองรับความต้องการลงทุนที่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

"ดังนั้นภายใต้หลักการต่างๆ ข้างต้น อีกทั้งข้อมูลความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ปรากฎเพิ่มเติม เป็นเพียงข้อมูลเดือนแรกของปี 2558 ทำให้คาดว่ากนง.จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% ในการประชุมรอบนี้ เพื่อรอประเมินภาพพัฒนาการและความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะชัดเจนขึ้นอย่างถี่ถ้วนจากข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนถัดไป เพื่อสงวนเครื่องมือไว้ใช้ หากจำเป็น" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุม กนง.ในรอบนี้มีจุดจับตาต่อไป 2 ประเด็น โดยจุดจับตาแรก อยู่ที่แถลงการณ์หลังการประชุมของ กนง.ว่าจะมีมุมมองต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างไร รวมทั้งจำนวนกรรมการที่ลงคะแนนให้มีการ "ลดอัตราดอกเบี้ย" ว่าจะแตกต่างจากในการประชุมรอบก่อนหน้าที่มี 2 ใน 7 เสียงหรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังมีอยู่มาก

จุดติดตามถัดไป คือ การประกาศทบทวนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ในการเปิดเผยรายงานนโยบายการเงินในวันที่ 20 มี.ค.58 ว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมในทิศทางใด โดยหากโน้มเอียงไปในแนวทางการปรับลดประมาณการ GDP ในปี 2558 ให้ต่ำลง ก็อาจกระตุ้นการคาดการณ์ของตลาดถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบถัดๆ ไปที่เพิ่มขึ้นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ