นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมกบง. กล่าวว่า กบง.ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนมี.ค.58 โดยเห็นว่าสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) ได้ปรับตัวอยู่ที่ 484 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 22 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG โดยใช้ต้นทุนเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักจากแหล่งผลิตและแหล่งจัดหา ซึ่งประกอบด้วยโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และการนำเข้า มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.19 บาท/กก. จากประมาณ 16.40 บาท/กก. เป็น 16.59 บาท/กก.
ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ปรับเพิ่มขึ้น 0.21 บาท/กก. จาก 24.16 บาท/กก. เป็น 24.37 บาท/กก. แต่เพื่อให้การปรับโครงสร้างราคา LPG ตามนโยบายที่มุ่งให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเดินหน้าต่อไปได้ โดยไม่กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนมากนักในช่วงเวลานี้ ที่ประชุมจึงเห็นควรใช้กองทุนน้ำมันฯ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการโดยให้คงราคาขายปลีก LPG เดือนมี.ค.58 ไว้เท่าเดิม คือ 24.16 บาท/กก.
โดยปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯของ LPG ลง 0.19 บาท/กก. จากประมาณ 0.54 บาท/กก. เหลือ 0.35 บาท/กก. โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.58 ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายรับลดลงประมาณ 73 ล้านบาท/เดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุมกบง.เห็นชอบปรับอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันชนิดต่างๆ ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม โดยให้มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ซึ่งในส่วนน้ำมันเบนซิน ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 2 บาท/ลิตร ,น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 , น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และ E20 ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 1 บาท/ลิตร ,น้ำมันดีเซล ปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ 0.20 บาท/ลิตร ส่วน E85 ปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 1 บาท/ลิตร
พร้อมกันนี้ จะประสานความร่วมมือไปยังผู้ค้าน้ำมันให้ปรับลดราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินลง 2.00 บาท/ลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และ E20 ลง 1 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซลลง 0.50 บาท/ลิตร โดยราคาน้ำมันดีเซลจะลดลงได้มากกว่าที่กบง.ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯเนื่องจากราคาในตลาดโลกปรับลดลงด้วย
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาในส่วนของน้ำมันดีเซล เกี่ยวกับการขยับอัตราภาษีสรรพสามิตให้ใกล้เคียงกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ที่เก็บอยู่ที่ประมาณ 5 บาท/ลิตร โดยกระทรวงการคลังจะปรับสรรพสามิตดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท/ลิตร และภาษีเทศบาล 0.10 บาท/ลิตร ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีกกบง. จึง มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันดีเซลลง 1.10 บาท/ลิตร โดยจะออกประกาศกบง.ในเรื่องนี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่มีการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซล
ผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ครั้งนี้ ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องลดลงประมาณ 3,155 ล้านบาท/เดือน จากมีรายรับ 7,821 ล้านบาท/เดือน เป็นมีรายรับ 4,666 ล้านบาท/เดือน ขณะที่ล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันฯสุทธิอยู่ที่ราว 3.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้กบง.ยังได้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก กับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตั้งแต่ 22 พ.ค.57-9 มี.ค.58 พบว่าราคาน้ำมันดิบ ปรับลดลงประมาณ 11.21 บาท/ลิตร ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ แก๊สโซฮอล 95 ลดลง 10.83 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล 91 ลดลง 9.70 บาท/ลิตร ดีเซล ลดลง 2.60 บาท/ลิตร และ LPG เพิ่มขึ้น 1.53 บาท/กก. ทั้งนี้สาเหตุที่ราคาดีเซลไม่ลดลงเท่าราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากที่ผ่านมาราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในระดับสูง มีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิตเข้ามาช่วยตรึงราคาขายปลีกเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
ดังนั้น ในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลง จึงได้มีการเก็บภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันฯ เพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในภาคขนส่งให้ใกล้เคียงกันและเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ ส่วน LPG เพื่อให้ราคาขายปลีกสะท้อนต้นทุนมากยิ่งขึ้น