ส่วนข้อเสนอจากตัวแทนภาคประชาชน ที่ต้องการให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการซ้อนขึ้นมาอีก 3 คณะ โดยมีองค์ประกอบฝ่ายละไม่เกิน 10 คนในแต่ละคณะนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีการจัดตั้งหรือไม่ ซึ่งการมีคณะอนุกรรมขึ้นมาหลายชุดจะทำให้เกิดความล้าช้าในการทำงาน รวมถึงเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับภารกิจขององค์กรที่มีอยู่ เกิดหลายขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า คณะทำงานชุดหลักยังไม่ได้แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และกรอบการทำงานที่เคยตกลงกันไว้นั้น การตั้งคณะทำงานร่วม คือการพยายามให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน ให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยหารือ หากเรื่องใดสามารถดำเนินการในระดับกระทรวง และเห็นพ้องต้องกันทั้ง 2 ฝ่ายก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเรื่องใดเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้กฎหมายหรือเกี่ยวพันกับหลายส่วน ก็เห็นควรมอบให้เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อไป
ส่วนประเด็นการบริหารจัดการพลังงาน และการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์หรือข้อกฎหมายเพื่อรองรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งจากการประชุมนอกรอบ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่าย ยังมีความเห็นตรงกันในประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รวมทั้งเห็นควรมีการศึกษาทบทวนกฎหมายหลายฉบับประกอบด้วย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514, พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานและผลประโยชน์ทับซ้อน และการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
โดยบทบาทหน้าที่ของคณะทำงานชุดนี้ คือ การเสนอแนะข้อมูล การให้ข้อสังเกต รวมถึงการนำเสนอข้อมูลที่เห็นว่าสำคัญ ในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยให้การบริหารทรัพยากรมีความครอบคลุม รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อส่งมอบให้แก่ สนช. และสปช.ที่กำลังมีการพิจารณาเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน