รมว.คมนาคม คาดชงไฮสปีดเทรนสายกทม.-หัวหิน/กทม.-พัทยาเข้าครม.ราวพ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2015 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เผยความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า ขณะนี้ทางกลุ่มซีพี และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ได้เข้ามาขอข้อมูลไปแล้ว ขณะเดียวกัน บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) ได้ส่งหนังสือขอประสานมาแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างนัดหารือ โดยกระทรวงคมนาคมกำลังรวบรวมแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติในหลักการเดือนพฤษภาคมนี้

พร้อมกันนี้จะบรรจุโครงการเพิ่มเติมในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 อีกด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความจำเป็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนน, ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน, ลดงบประมาณซ่อมบำรุงถนนและลดระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ส่วนรูปแบบการร่วมลงทุน PPP ซึ่งทำได้ทั้งการเจรจากับผู้สนใจ เหมือนโครงการรถไฟไทย-จีน หรือเปิดประมูลแข่งขัน เพื่อไม่มีครหาเรื่องความโปร่งใสโดยจะประมูลเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหินก่อน เพราะมีปัญหาการเดินทางโดยรถยนต์ไม่สะดวก โดยค่าก่อสร้างเบื้องต้นหากความเร็วระหว่าง 200-250 กม./ชม.นั้น จะอยู่ที่ประชุม 350 ล้านบาท/กม. บวกความยากหรือง่ายของการก่อสร้างและขึ้นกับสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางผ่าน โดยจะนำข้อมูลที่มีประโยชน์ของผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิม เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ,กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง มาใช้ร่วมด้วย

รมว.คมนาคม เชื่อว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และทำให้โครงการมีความคุ้มทุน ซึ่งแนวคิดของรัฐบาลเห็นว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงยิ่งระยะทางยาว ยิ่งใช้เงินมาก และคืนทุนยาก เพราะเมื่อลงทุนสูงจะกำหนดค่าโดยสารสูงผู้โดยสารจะน้อย ขณะที่หากเน้นเส้นทางที่จะมีผู้โดยสารมาก แบ่งสัดส่วนการลงทุนและการหารายได้ให้เหมาะสมโดยจากเดินรถประมาณ 40% และการบริการที่สถานี,พัฒนาชุมชนใหม่ที่ต่อเนื่องกับสถานีอีก 60% จะคืนทุนได้หลังปีที่ 10 ไปแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ