เงินบาทปิด 32.71/72 ยังอ่อนค่าต่อเนื่องจากเงินทุนไหลออก-ตลาดหุ้นร่วง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2015 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.71/72 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงค่อนข้างมากจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.59/61 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดวัน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น รวมทั้งการที่ธนาคารกลางยุโรป(ECB) เริ่มมาตรการ QE ในวันที่ 9 มี.ค.เป็นวันแรก ส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลง ขณะที่บ้านเราในช่วงบ่ายมีกระแสเงินทุนไหลออกค่อนข้างมาก จากความคาดหวังว่า FED จะเปลี่ยนใจปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้น จึงมีผลทำให้เงินบาทอ่อนค่า

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.00% ซึ่งหากไม่ลดดอกเบี้ย เงินบาทก็น่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ มองกรอบพรุ่งนี้ที่ 32.65-32.80 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 121.76 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 121.66 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0754 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0830 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,531.04 ลดลง 28.67 จุด (-1.84%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 46,254 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 924.91 ลบ.(SET+MAI)
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุรัฐบาลจะไม่ส่งสัญญาณใดๆ ไปยังคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะมีการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันพรุ่งนี้(11 มี.ค.) แต่เห็นว่าการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่นั้นจะต้องดูสถานการณ์โลกและสถานการณ์รอบบ้านอย่างรอบด้าน และหากลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปก็จะไม่มีเครื่องมือเข้ามาดูแลเมื่อถึงคราวจำเป็น ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาได้ เพราะในบางประเทศแม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแล้วแต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น ดังนั้นจึงกังวลว่าหากปรับลดดอกเบี้ยแล้วอาจต้องดึงเงินทุนสำรองออกมาใช้ ซึ่งไม่อยากให้เกิดปัญหาในส่วนนี้
  • นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือ MPA NIDA เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% เช่นเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเรียกได้ว่ากำลังเผชิญกับภาวะติดกับดักสภาพคล่อง เพราะกำลังซื้อหดหาย จากรายได้จากพืชผลทางการเกษตรลดต่ำลง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่เป็นหนี้สินในระบบมีสัดส่วนสูงถึง 85% ของ GDP ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมภาระหนี้นอกระบบ ทำให้รายได้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนชะลอตัวลง
  • นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ยืนยันผู้ประกอบการรถยนต์ในไทยยังคงเดินหน้าผลิตรถยนต์ตามแผนที่ในปีนี้จะมีเป้าหมายการผลิตที่ระดับ 2.13 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 13% จากปีก่อน ซึ่งคิดเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตในปีนี้ระดับ 75% เพิ่มขึ้นจาก 66% ในปีที่แล้ว โดยยังไม่มีการปลดพนักงานหรือการเพิ่มวันหยุดยาวตามที่มีกระแสข่าวแต่อย่างใด
  • ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทค.) มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ (พ.ศ. 2555) โดยในส่วนของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ใช้ในสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด และกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณคลื่นเป็น 2 X 20.0 MHz ด้วย ซึ่งคาดว่าเป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้น
  • บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ เผยยอดรวมสินทรัพย์ของกองทุนในตลาดการเงินจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่าในช่วง 18 เดือนจนถึงเดือน ธ.ค.57 โดยเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านล้านหยวน(3.513 แสนล้านดอลลาร์)
  • สำนักงานงบประมาณของรัฐสภาสหรัฐ(CBO) ปรับเพิ่มคาดการณ์ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐในปี 58 แต่ปรับลดคาดการณ์ยอดขาดดุลระยะยาวเมื่อเทียบกับที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ม.ค.58
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ เผยยอดส่งออกเดือน ม.ค.58 ปรับตัวลดลง 0.5% สู่ระดับ 4.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 4.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของเดือน ม.ค.57 เนื่องจากการขนส่งงานไม้และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ลดลง แม้ว่ายอดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB) เผยได้แจ้งต่อนายยานิส วารูฟากิส รมว.คลังของกรีซว่า กรีซกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ร้ายแรงและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตัวแทนของยูโรโซนเข้าไปดูแลกรีซอีกครั้ง หากกรีซต้องการความช่วยเหลือมากขึ้น
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 4 เดือนในช่วงสั้นๆวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายพันธบัตร อันเนื่องมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแรงในการประมูลพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 338 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 0.470% ในช่วงสั้นๆ ก่อนปิดที่ 0.465% เพิ่มขึ้น 0.040% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ โดยบอนด์ยีลด์นั้นเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาพันธบัตร ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน มี.ค.58 ลดลง 0.37 จุด แตะระดับ 146.89 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ