คกก.ร่วมรถไฟไทย-จีน สรุปรูปแบบความร่วมมือแบบ EPC คาดประเมินงบลงทุนส.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 11, 2015 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 3 (10-11มี.ค.) ว่ารูปแบบความร่วมมือแบบ EPC (Engineering Procurement and Construction) แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกงานโยธา(Civil Work) ซึ่งงานโยธาบนทางเรียบฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะเปิดให้เอกชนไทยเป็นผู้ดำเนินการ แต่ส่วนงานก่อสร้างที่ใช้เทคนิคสูงเช่นเจาะอุโมงค์ ไหล่เขา จะให้ทางจีนดำเนินการ

ส่วนที่ 2 เป็นงานวางระบบรางระบบอาณัติสัญญาณและระบบที่เกี่ยวข้องจะให้ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่ 3 เป็นงานเดินรถจะให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน โดยจะให้รฟท.ถือหุ้น 30% เอกชนไทย 30% และฝ่ายจีนถือ 40% ซึ่งมีเงื่อนไขในช่วง 3 ปีแรกจีนจะเป็นผู้เดินรถเป็นหลัก ปีที่ 4-7 ฝ่ายไทยและจีนเดินรถร่วมกัน และหลังจากปีที่ 7 ฝ่ายไทยจะเป็นผู้เดินรถ ระหว่างจีนนี้จะฝีกอบรมถ่ายทอดให้กับฝ่ายไทย

รมว.คมนาคม คาดว่าจะสรุปงบลงทุนได้ในเดือนส.ค. หลังจากที่ฝ่ายจีนลงพื้นที่สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ จากที่ฝ่ายไทยได้สำรวจไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะมี China Railway Construction Corporation (CRCC) และ CHina Railway Engineering Corporation (CREC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีนเข้ามาสำรวจและแบบ

ขณะที่ฝ่ายไทยดูแลการเวนคืนที่ดิน และเร่งจัดจ้างที่ปรึกษาดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบริหารโครงการ ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จภายในมี.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า แหล่งเงินลงทุนจะเป็น Multi Finance โดยค่าใช้จ่ายเวนคืนที่ดินจะใช้งบประมาณแผ่นดิน งบลงทุนงานโยธาใช้เงินกู้จากในประเทศซึ่งอาจจะออกพันธบัตร การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนงบลงทุนระบบรถทั้งหมดคาดว่าจะใช้เงินกู้จากจีน รมว.คมนาคม คาดว่าไทยจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่า 2% เพื่อนำมาลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน(Standard gauge) 1.435 เมตรระหว่างไทยจีน เนื่องจากระบบงานต่างๆ ของรถไฟฟ้าทั้งระบบราง ระบบไฟฟ้าระบบอาณัติสัญญาณล้วนนำเข้าจากจีน รวมทั้งเป็นโครงการที่ไทยกับจีนมียุทธศาตร์ร่วมกันและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ และการร่วมมือครั้งนี้เป็นโครงการที่ใช้ยุทธศาตร์ร่วมกันที่จีนจะมีเส้นทางเชื่อมโยงเข้าลาวและไทย อีกทั้งโครงการนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายจีนและฝ่ายไทย โดยคาดว่าในส.ค.นี้จะประเมินงบลงทุนทั้งโครงการได้

นอกจากนี้ คาดว่าจะได้เงินกู้พิเศษดอกเบี้ยต่ำกว่า 2% จากจีน ขณะเดียวกัน เปิดให้บริษัทผู้รับเหมาในประเทศที่เข้าเกณฑ์ 12-15 ราย เข้ารับงานโยธา ส่วนบริษัทเดินรถจะดึงการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ถือหุ้นหลักพร้อมเปิดให้เอกชนไทยร่วมหุ้นบริษัทเดินรถด้วย

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน(Standard gauge) 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. มีความเร็ว 180 กม./ชม. เป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งการดำเนินการเพื่อให้โครงการเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนต.ค.นี้ตามเป้าหมาย

ส่วนในวันพรุ่งนี้จะมีการลงนามความร่วมมือจากผลการประชุมร่วมของคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน 3ครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ช่วงที่ 1 กรุงเทพ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. เริ่มก่อสร้างได้ไม่เกิน ต.ค.58 ซึ่งฝ่ายจีนเห็นว่าจะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จภายใน 2.5 ปี ส่วน ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม.และช่วงที่ 4 นครราชสีมา –หนองคาย ระยะทาง 355 กม.

สำหรับการประชุมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในวันที่ 6-8 พ.ค.นี้ ที่คุนหมิง เพื่อรายงานความก้าวหน้าโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ